ปัญหาสังคมผู้สูงอายุต้องแก้ให้เร็ว เพราะอีก 40 ปีข้างหน้า “ญี่ปุ่น” จะมีคนกลุ่มนี้ถึง 40%

แม้หลายประเทศจะเริ่มประสบปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ “ญี่ปุ่น” คือประเทศที่อาการหนักที่สุด เพราะหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โอกาสที่ 40 ปีข้างหน้า ประชากรภายในประเทศที่ตอนนี้มี 127 ล้านคน อาจเหลือเพียง 80 ล้านคน

ภาพจาก Flickr ของ SnippyHolloW

ทำงานหนักจนลืมชีวิตส่วนตัว

ด้วยวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มองว่าผู้ชายคือผู้นำ และมีหน้าที่หาเงินเข้าบ้าน ส่วนผู้หญิงก็เป็นผู้ตาม และคอยทำงานบ้านไป แต่ปัจจุบันคงมองอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เพราะทั้งชาย และหญิง ต่างทำงานอย่างหนัก เพื่อหาเลี้ยงตัวเองในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และปัจจัยนี้เองทำให้อัตราประชากรเกิดใหม่ของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในขั้นวิกฤติ

โดยถ้านับจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2559 จะมีต่ำกว่า 1 ล้านคน ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2442 และทาง National Institute of Population and Social Security Research ของประเทศญี่ปุ่น ยังคาดการณ์ว่าหากปัญหานี้ยังเกิดต่อไป โอกาสที่ประชากรจะลดลงไปอีก 40 ล้านคน หรือเหลือราว 80 ล้านคนภายในปี 2608 ก็มีสูง

ขณะเดียวกันชายที่ยังไม่ได้แต่งงาน 70% และหญิงที่ไม่ได้แต่งงานอีก 60% ต่างไม่ได้มีแฟนเป็นตัวเป็นตน แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่คิดเรื่องแต่งงานของชาวญี่ปุ่น และจุดนี้เองก็จะส่งผลถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ผ่านอัตราส่วนคนที่มีอายุเกิน 65 ปีราว 40% ของประชากรกว่า 80 ล้านคน จากปัจจุบัน 27% ของประชากร 127 ล้านคน

อย่างไรก็ตามถึง ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น จะพยายามรณรงค์ให้ประชากรในประเทศไม่หักโหมในการทำงาน และใช้ชีวิตแบบ Work-Life Balance เช่นการให้บริษัทต่างๆ ลดเวลาการทำงานลง เพื่อให้ชายหญิงได้พบปะสังสรรค์กันมากขึ้น แต่ก็คงยากที่จะแก้ปัญหานี้ได้

สรุป

จริงๆ แล้วไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่สหรัฐอเมริกา, เดนมาร์ก, จีน, สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย ต่างก็เจอกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุกันทั้งนั้น เพราะปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชากรเปลี่ยนไป รักตัวเอง และไม่อยากลำบาก ดังนั้นการโน้มน้าวจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนในอดีตคงยาก หากใช้แค่นโยบายจูงใจจากรัฐบาล

อ้างอิง // Japan’s sex problem could cause the population to fall by forty million by 2065

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา