ผลสำรวจคนทำงานจากญี่ปุ่นพบ คนส่วนใหญ่เคารพคนทำงานวัยเก๋าที่ระดับไม่เกิน 30% เท่านั้น และมีคนแค่ 23.2% ที่บอกว่ายังเคารพคนเหล่านี้มากอยู่
ช่องว่างระหว่างวัย เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งปัญหาสำหรับสังคมการทำงาน เพราะแนวคิดหรือวิธีการทำงานที่ บ่อยครั้งหากจัดการไม่ดี นี่คืออุปสรรคสำหรับการทำงานข้ามวัยในออฟฟิศ และหากความไม่เข้าใจก่อตัวขึ้นแล้วหลายครั้งก็ยังนำไปสู่ความไม่ลงรอยระหว่างวัย เช่น ในกรณีของญี่ปุ่นที่แม้จะขึ้นชื่อเรื่องความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ผลสำรวจกลับระบุว่า มีไม่ถึง 1 ใน 4 ที่เคารพลุงๆ ป้าๆ ในที่ทำงาน
การสำรวจคนทำงานที่มีอายุ 20-49 ปี จำนวนกว่า 2,000 คน โดยนิตยสาร Spa พบว่า คนส่วนใหญ่เคารพคนทำงานวัยเก๋าที่ระดับไม่เกิน 30% เท่านั้น มีคนแค่ 23.2% ที่บอกว่ายังเคารพคนเหล่านี้มากอยู่ (ระดับความเคารพเกิน 50%)
จากการสำรวจ คนญี่ปุ่นลงความเห็นเกี่ยวกับระดับความเคารพลุงป้าในที่ทำงานเอาไว้ ดังนี้
- คน 26.8% ให้ความเคารพน้อยกว่า 10%
- คน 27.9% ให้ความเคารพ 10% – 30%
- คน 22.1% ให้ความเคารพ 30% – 50%
- คน 16% ให้ความเคารพ 50-70%
- คน 5% ให้ความเคารพ 70% – 90%
- คน 2.2% ให้ความเคารพมากกว่า 90%
คำถามคือ ทำไมคนส่วนมากเคารพคนแก่ในที่ทำงานน้อยลง สาเหตุหลักๆ ที่พบคือ คนทำงานที่อายุน้อยกว่าส่วนใหญ่ (55.6%) มักมองว่าลุงๆ ป้าๆ ไม่ได้ทำอะไรให้บริษัทได้เป็นพิเศษตามอายุ (และค่าตอบแทน) ที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คนทำงานรุ่นใหม่ยังมองว่าคนทำงานสูงวัยมีอะไรพิเศษ เช่น
- ความรู้และทักษะเรื่องงาน (19.9%)
- แนวทางและคำแนะนำที่ชัดเจน (14.2%)
- ความสามารถในการรับมือวิกฤติ (11.4%)
- ภาวะผู้นำที่แข็งแกร่ง (10.6%)
- ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์หากร้องขอ (10%)
- บรรยากาศแห่งความเชื่อมั่น (6.3%)
- ไม่มีส่วนร่วมในการล่วงละเมิดทางเพศหรือใช้อำนาจผิดๆ (6.3%)
ที่น่าสนใจคือ เคยมีการสำรวจ เกี่ยวกับคนแก่ในที่ทำงาน และก็ได้คำตอบไปในทิศทางเดียวกัน โดยกว่า 90% ระบุว่า พวกคนแก่ที่ไม่ทำอะไรเลยเป็นเนื้อร้ายขององค์กร แถมองค์กรในญี่ปุ่นเกือบครึ่งกำลังเจอปัญหาแบบนี้อยู่
ทั้งนี้ ต้องย้ำนี่คือการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างราว 2,000 คน ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาที่ต้องคิด เพราะนี่ไม่ได้เป็นขนาดตัวอย่างที่ใหญ่ อย่างไรก็แล้วแต่ ข้อคิดสำคัญที่ได้ก็คือ แม้แต่ในประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างสูงกับความอาวุโส การเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้คนก็ยังคิดว่าความเคารพคือสิ่งที่คุณต้อง ‘ทำเพื่อให้ได้มา’ ไม่ใช่จะได้กันแบบฟรีๆ
ที่มา – Yahoo News Japan
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา