ไม่ว่าจะแอพเรียกรถรายไหน ท้ายที่สุด ต้องส่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ Ola ซื้อ FoodPanda ในอินเดียแล้ว

ทำ Grab ก็มี GrabFood ทำ Uber ก็มี UberEats ล่าสุด บริการแอพเรียกรถร่วมโดยสาร Ola เข้าซื้อ FoodPanda ในอินเดีย และพร้อมลงทุนต่อเนื่องอีกประมาณ 6,500 ล้านบาท

ต่อไปคนขับแท็กซี่ Ola จะหิ้วอาหารจากร้านไปส่งถึงบ้าน

บริการแอพเรียกรถร่วมโดยสาร Ola เข้าซื้อ FoodPanda ในอินเดียซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มของ Delivery Hero Group จากเยอรมนี

ดีลครั้งนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยชัดเจน แต่แหล่งข่าวระบุว่า มูลค่าดีลไม่น่าจะเกิน 50 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 1,600 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือ Ola เตรียมลงทุนต่อเนื่องใน FoodPanda อินเดียอีก 200 ล้านเหรียญ หรือ 6,555 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว

ในตลาดอาหารเดลิเวอรี่อินเดีย มีคู่แข่งหลายเจ้า เช่น UberEats, Zomato และ Swiggy ส่วน FoodPanda ที่เป็นเบอร์ 3 ของตลาดอินเดีย หลังจากการเข้าซื้อของ Ola ครั้งนี้ถือเป็นการเสริมความแกร่งให้กับธุรกิจอย่างมาก

  • ต่อไปนี้ คนขับแท็กซี่ Ola จะสามารถหิ้วอาหารไปส่งตามจุดต่างๆ จากร้านอาหารถึงหน้าบ้าน ที่ทำงาน หรือสถานที่ที่ลูกค้าต้องการ

Ola จะชนะ Uber ได้ไม่ยากในอินเดีย หลังการซื้อ FoodPanda

นักวิเคราะห์ มองว่า การเข้าซื้อ FoodPanda ในอินเดียของ Ola ครั้งนี้จะทำให้สามารถเอาชนะ UberEats ในแง่ราคาที่ต่ำกว่าได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า Ola เป็นแอพท้องถิ่นในอินเดีย ไม่ใช่บริการข้ามชาติอย่าง Uber

โดยปกติสั่งอาหารเดลิเวอรี่จากร้านอาหารหรูๆ UberEats จะคิดค่าบริการเพิ่มอีก 30% แต่สำหรับ Ola ค่าบริการจะถูกกว่านั้นมาก UberEats เตรียมตัวรับมือกับการ Localize ไว้ได้เลย

ทำไมทำแอพเรียกรถต้องส่งอาหารเดลิเวอรี่?

ส่วนอีกประเด็นที่น่านำไปขบคิดกันต่อคือ เพราะเหตุใด แอพบริการเรียกรถไม่ว่าจะรายไหนๆ เมื่อทำธุรกิจไปถึงจุดหนึ่ง ต้องส่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ด้วย เท่าที่ดูจากความเป็นไปได้คือ

  • เพราะตลาดร้านอาหารมีมูลค่าสูงในทุกสังคม อย่างในไทย มีการประเมินไว้ว่า ในปี 2016 ตลาดร้านอาหารมีมูลค่าสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท ประกอบกับเมื่อการขนส่งมีต้นทุนที่ถูกลงและมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น (ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ) ดังนั้น นอกจากจะส่งของส่งสินค้าแล้ว การส่งอาหารจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในความสะดวกสบาย เพราะลูกค้าที่อยากกินอาหารอร่อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปที่ร้านนั้นๆ
  • การขยับขยายตำแหน่งจาก แอพเรียกรถร่วมโดยสาร มาส่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นการใช้ความแข็งแกร่งจากต้นทุนที่มีอยู่ในมือ จากแอพพลิเคชั่นที่ใช้ดึงคนขับรถมาอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว การใช้สิทธิประโยชน์ไปส่งของ/ส่งอาหารจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด

อ้างอิง – ET Tech IndiatimesWorldnews

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา