สรุปกลยุทธ์โออิชิ 2020: ดันอาหารพร้อมทาน ร้านอาหารเล็กลง เน้นเดลิเวอรี่มากขึ้น เครื่องดื่มพรีเมี่ยม

โออิชิกรุ๊ป ธุรกิจในเครือ TCC ของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศกลยุทธ์ครั้งใหญ่แห่งปี 2020 เพื่อเดินหน้าธุรกิจ จุดเด่นยังคงเป็นเรื่องสุขภาพ ความยั่งยืน และการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ แต่ความพิเศษของปีนี้คือความพยายามอย่างจริงจังมากขึ้นในการขยายธุรกิจให้แข็งแกร่งมากไปกว่าแค่เครื่องดื่มและอาหารอย่างที่ผ่านมา

ในอดีตโออิชิมีธุรกิจ 2 ขาหลักคือ “เครื่องดื่ม” และ “ร้านอาหาร” ซึ่งถือเป็นตัวชูโรง เพราะต่างครองส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทไว้แทบทั้งหมด

  • ธุรกิจเครื่องดื่ม ชื่อแบรนด์ชาเขียวโออิชิแข็งที่สุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมด ครองส่วนแบ่งรายได้ของโออิชิไว้ 48%
  • ส่วนธุรกิจอาหารก็ยังเป็นตัวชูโรง เพราะครองส่วนแบ่งรายได้ไว้มากถึง 52% ในปัจจุบัน

แต่นับจากนี้ไปโออิชิ บอกว่า ขอลุยธุรกิจ “ขาที่ 3” อย่างจริงจัง นั่นก็คือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน” (โออิชิเรียกธุรกิจกลุ่มนี้ว่า Packaged Food แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่น่าจะรู้จักและคุ้นเคยกันดีในชื่อ ready to eat)

ต้องบอกว่า ธุรกิจอาหารพร้อมทานไม่ใช่ของใหม่สำหรับโออิชิ เพราะได้แยกธุรกิจออกมาตั้งแต่ 2018 แล้ว เพียงแต่ปัญหาคือธุรกิจส่วนนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนมากนัก รวมถึงหากดูในแง่ตัวแบรนด์และส่วนแบ่งในตลาดยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แต่ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าในปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมทานจะยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจหลักของบริษัทอย่างเครื่องดื่มและอาหาร เมื่อดูตัวเลขการเติบโตในปีที่ผ่านมาจะพบว่า ธุรกิจอาหารพร้อมทานของโออิชิเติบโตถึง 2 หลัก สูงกว่าการเติบโตของตลาดอาหารพร้อมทานทั้งหมดที่เติบโตเพียงหลักเดียวประมาณ 7-8%

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป “ธุรกิจอาหารพร้อมทาน” จะเป็นธุรกิจหน้าเก่าของโออิชิที่นำมาผลักดันใหม่อีกครั้ง และแน่นอน รอบนี้โออิชิต้องการให้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยเหตุผลเพราะธุรกิจส่วนนี้โตไว โตง่าย ทำเองได้ทั้งหมด และที่สำคัญไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมากนัก (ต่างจากเครื่องดื่มและร้านอาหารที่ต้องมีพันธมิตรหลายส่วน)

ภาพรวมโออิชิปี 2019 และก้าวต่อไปของโออิชิปี 2020

ก่อนอื่น ดูภาพรวมโออิชิในปีที่ผ่านมาก่อน ปี 2019 โออิชิมีรายได้รวม 13,631 ล้านบาท รายได้เติบโตขึ้น 8.2% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,229 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 21.9% แบ่งได้ดังนี้

  • รายได้จากธุรกิจร้านอาหาร 7,130 ล้านบาท กำไร 360 ล้านบาท
  • รายได้จากธุรกิจเครื่องดื่ม 6,501 ล้านบาท กำไร 869 ล้านบาท

ปัจจัยที่ทำให้กำไรพุ่งทะยานขึ้น โดยหลักแล้วธุรกิจร้านอาหารมาจากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาโออิชิขยายร้านอาหารไปกว่า 26 สาขา ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มแม้จะมีประเด็นเรื่องภาษีน้ำตาลเข้ามากระทบ แต่โออิชิยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงด้วยการส่งเครื่องดื่มพรีเมี่ยมลงสู่ตลาดและรวมถึงการส่งออกที่ค่อนข้างดี เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 15%

  • หลังจากทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2019 แล้ว คำถามคืออะไรที่จะเป็นก้าวต่อไปของโออิชิในปี 2020

หนึ่งใน Quote of The Day มาจากคุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งบอกว่า “ความสำเร็จในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นตัวการันตีการประสบความสำเร็จในอนาคตอีกต่อไป” และที่ลืมไม่ได้คือ “การที่แบรนด์จะอยู่มาได้ถึง 20 ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นถ้าแบรนด์ไม่แข็งจริง ก็อยู่ไม่ได้”

ดังนั้น สิ่งที่โออิชิในปี 2020 จะทำคือตอบสนองต่อ 3 กระแสใหญ่ (macro trends) ได้แก่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability) โดยวางแนวทางให้ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแสดงความความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การสร้างโรงงานผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการระบบกำจัดของเสียในโรงงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

“นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้โออิชิประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ บุคลากรทุกคน โออิชิจึงให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจบุคลากรทุกระดับ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการเติบโตของพนักงานอย่างไร้ขีดจำกัด” คุณนงนุชกล่าว

ผู้บริหารโออิชิ (ซ้าย-ขวา) นางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นางสาวเมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ผู้บริหารโออิชิ (ซ้าย-ขวา) นางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นางสาวเมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

เครื่องดื่ม: ชาเขียวยังครองเบอร์ 1 แต่โตยาก ต้องปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่

แม้ว่าชาเขียวโออิชิจะเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดไว้มากถึง 45% แต่ถ้าดูในแง่มูลค่าต้องบอกว่า “โตยาก” และ “ไม่น่าจะโตไปมากกว่านี้สักเท่าไหร่(ในแง่มูลค่า)”

คุณเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า โออิชิต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยหัวใจหลักคือการขยาย 3 เรื่องขึ้นมาสู้ ได้แก่

  • ขยายฐานลูกค้า: ถ้าเปิดข้อมูลดูจะพบว่าในปัจจุบันโออิชิสูญเสียฐานลูกค้าวัย 15-19 ปีไปไม่น้อย เทียบปีต่อปีลดลงจาก 22% เหลือเพียง 13% ดังนั้นทางออกของโออิชิจึงเป็นทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้ากลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมด ทำวิจัยศึกษาอย่างจริงจัง จนได้ผลลัพธ์ว่า แฟชั่น ความสวยความงาม เพลง กีฬา ท่องเที่ยว ยังคงเป็นตัวดึงดูดคนรุ่นใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ “เกมอีสปอร์ต” ที่ถือเป็นความบันเทิงใหม่แห่งยุคสมัยที่น่าสนใจ โออิชิจึงจับมือกับ ROV จัดเกมทัวร์นาเม้นท์ พร้อมทั้งออกชารสชาติใหม่โออิชิ แอปเปิลฮันนี่ โดยชูจุดเด่นการ “ดื่มแล้วหัวไม่ร้อน” เพื่อเอาใจลูกค้าฐานกลุ่มวัยรุ่นที่เล่นเกมโดยเฉพาะ
  • ขยายความพรีเมี่ยม: ข้อนี้เห็นกระแสกันมาสักพักแล้ว ลูกค้ายุคนี้รักสุขภาพมากขึ้น ยอมจ่ายแพงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า โออิชิจึงส่งโออิชิ โกลด์ เกียวคุโระ ออกมาสู่ตลาด โดยชูความเป็นชาจากไร่จักรพรรดิ ได้ทั้งความพรีเมี่ยม ได้ทั้งเรื่องสุขภาพ
  • ขยายการส่งออก: ถือเป็นอีกส่วนของธุรกิจเครื่องดื่มที่สำคัญ เพราะจากเดิมที่ส่งออกเพียง 13 ประเทศ ปัจจุบันสามารถขยายการส่งออกได้ถึง 33 ประเทศทั่วโลก กลยุทธ์หลังจากนี้คือสร้างความแข็งแกร่งในตลาดหลักคือกัมพูชาและลาว รวมถึงสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างความพร้อมของบุคคลากรในการทำงานในต่างประเทศด้วย
Oishi ROV
โออิชิจับมือ ROV ขยายฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่น

ร้านอาหาร: ขยายต่อ แต่สาขาจะเล็กลง รับกระแสเดลิเวอรี่

“เมื่อร้านอาหารไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้างอีกต่อไป แถมยุคนี้สั่งเดลิเวอรี่ได้ สะดวกสบายมากๆ”

ด้านบนคือคำพูดของคุณไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งสะท้อนภาพของตลาดร้านอาหาร พฤติกรรมของผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

พูดง่ายๆ คือ ยุคนี้หน้าร้านของร้านอาหารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสูงสุดอีกต่อไปแล้ว และที่สำคัญการขยายหน้าร้านขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการขยายฐานลูกค้าโดยตรง สาขาขนาดเล็กได้เปรียบทั้งในแง่การลงทุนและความสะดก แถมง่ายต่อการตอบโจทย์กระแสการสั่งอาหารผ่านเดลิเวอรี่ที่มาแรง หรือกระแสใหม่อย่างวิถีคนเมืองยุคใหม่ที่มีพฤติกรรมการกินดึก

  • ก่อนหน้านี้ Brand Inside ได้รีวิวร้านชาบูชิที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง สามารถรับชมได้ด้านล่างนี้

คุณไพศาล ระบุว่า เมื่อเห็นภาพแบบนี้แล้ว กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนร้านอาหารญี่ปุ่นของโออิชิในปี 2020 มีดังนี้

  • Growth Engine: สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจผ่านการดำเนินงานเชิงรุกอย่างรอบด้าน ได้แก่ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และเมนูใหม่ๆ การสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่เหมาะสมและการขยายสาขาต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงและขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่นเว็บไซต์ ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการสั่งอาหารแบบออนดีมานด์บนแอปพลิเคชันชั้นนำของไทยอย่าง แกร็บฟู้ด (GrabFood) ไลน์แมน (LINE MAN) และ ฟู้ดแพนด้า (foodpanda)
  • Re-engineering Brand’s Business Model: ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ร้านอาหารให้มีความทันสมัยตามเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นำเสนอรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ ชาบูชิ “บริการ 24 ชั่วโมง” รับวิถีคนเมือง “สังคมคนนอนดึก” (Sleepless Society) ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • Reinvented Customers Experience: สร้างคุณค่าตราสินค้าผ่านสินค้าและบริการเพื่อมอบประสบการณ์แปลกใหม่และน่าประทับใจให้แก่ผู้บริโภค
  • Spin-off Brands: พัฒนาและเปิดตัวแบรนด์ใหม่ทั้งร้านอาหารและร้านขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น ได้แก่ โฮว ยู (HOU YUU), ซากาเอะ (SAKAE) จับกลุ่มลูกค้าระดับบน และ โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ อร่อยเข้มข้นระดับพรีเมียม ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านขนมหวานแบรนด์แรกของโออิชิ

อาหารพร้อมทาน: ธุรกิจขาที่ 3 ของโออิชิที่ต้องการดันให้แข็งแกร่ง

“ใครๆ ก็รู้ว่าเทรนด์อาหารสำเร็จรูปมาแรงและโตต่อเนื่อง” คุณเมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุพร้อมบอกด้วยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดอาหารอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงพร้อมทานได้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคนในชุมชนเมืองมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้มีคุณภาพ มีความสะดวกในการบริโภคและมีความหลากหลายของประเภทอาหาร เราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้างจึงมีแผนรองรับการขยายตัวของตลาด” คุณเมขลากล่าว

แต่ปัญหาคือ ก่อนหน้านี้แบรนด์สินค้าอาหารพร้อมทานของโออิชิสะเปะสะปะ ไม่เป็นรูปเป็นร่าง ลูกค้าจำสินค้าไม่ได้ ดังนั้นนับจากนี้เป็นต้นไป โออิชิจึงใช้แผนใหม่คือรวบทุกแบรนด์สินค้าพร้อมทานให้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเดียวกันในชื่อเดียวคือ โออิชิ อีทโตะ (OISHI EATO)”

ส่วนกลยุทธ์หลักของการผลักดัน “ธุรกิจขาที่ 3” หรืออาหารพร้อมทานของโออิชิให้แข็งแกร่งนั้นมี 3 เรื่องที่ต้องทำคือ

  • Brand Building & Communication: สร้างตราสินค้า โออิชิ อีทโตะ (OISHI EATO) ให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมสร้างภาพลักษณ์ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่น 
  • Innovation: พัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและโดดเด่น ทั้งรูปแบบ รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการและหีบห่อ/บรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย
  • Channel & Market Expansion: สร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายหลักอย่าง ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังกลุ่มฟู้ด เซอร์วิส ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจในเครือไทยเบฟ รวมทั้งขยายสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นทั้งอาเซียนและสหภาพยุโรป

Oishi Eato

สรุป

ดังคำที่ผู้บริหารของโออิชิว่าไว้ เมื่อความสำเร็จในอดีตไม่ได้ ไม่ได้รับประกันความสำเร็จในอนาคต

เพราะยุคนี้ อะไรที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำจนกลายเป็นสูตร และมากกว่านั้นอาจจะทำได้ซ้ำๆ เรื่อยๆ อาจไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้ว เพราะตลาดเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แทบทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด

ดูได้จากกรณีศึกษาอย่างโออิชิที่แม้เครื่องดื่มชาเขียวจะครองตลาดเป็นเบอร์ 1 แต่มองเห็นว่าหากทำแบบเดิม วันหนึ่งก็อาจถึงทางตัน ดังนั้นจึงต้องปรับตัวเข้าหาคนรุ่นใหม่ ปรับภาพลักษณ์ให้พรีเมี่ยม ตอบโจทย์สุขภาพ หรือในด้านร้านอาหารเอง แม้จะทำมานาน แต่ยุคนี้คนไม่ได้เข้าร้านอาหารเหมือนเดิม พูดอีกอย่างคือ ร้านอาหารไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็เป็นร้านอาหารได้ กระแสเดลิเวอรี่ที่มาแรง เราจึงได้เห็นโออิชิจะขยายสาขาที่เล็กลงและเน้นเดลิเวอรี่มากขึ้น ส่วนในแง่ธุรกิจของโออิชิในระยะยาว การทำธุรกิจเครื่องดื่มและร้านอาหารแม้ว่าจะทำเงินให้กับบริษัทได้มาก แต่ในรายละเอียดนั้นทั้ง 2 ธุรกิจนี้ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่มาก ร้านอาหารต้องทำงานกับเจ้าที่ดิน ห้างสรรพสินค้า ยังไม่ต้องพูดถึงในส่วนอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และอีกมากมาย ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มก็ทำนองเดียวกัน

แต่ทั้งนี้ ธุรกิจขาที่ 3 อย่างอาหารพร้อมทานก็ตอบโจทย์ทั้งกระแสไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ทั้งพฤติกรรมของคนยุคใหม่ ตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการที่โออิชินั้นสามารถลุยหนักได้ด้วยตัวเองมากขึ้น

อนาคตธุรกิจของโออิชิน่าจับตามองอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา