เคลมประกันว่ายาก แต่มีคนฉวยโอกาสกับลูกค้าที่อยากเคลมประกัน ว่าสามารถประสานงานกับบริษัทได้ไวขึ้น เมื่อได้เงินเคลมมาก็ขอเงินที่ได้มาเกือบครึ่ง แล้วลูกค้าตัวจริงจะได้อะไร คปภ.ต้องแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร?
คปภ. เร่งแก้ปัญหาคนโกงประกัน-ฉ้อฉล-แก็งเคลม-ซื้อหนี้
สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บอกว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างเรื่องประกันภัยโดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทน (การเคลม) เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ กระบวนการเคลมเงินประกันยังมีความซับซ้อน ประชาชนบางส่วนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประกันภัยและกฎหมายประกันภัยเพียงพอทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง เช่น
ปัญหาการซื้อเคลม-เมื่อลูกค้าบริษัทประกันต้องการจะเคลมค่าสินไหม ก็มีคนที่ฉวยโอกาสใช้ช่องว่างทางกฎหมายเสนอตัวมาจัดการเรื่องเคลมให้ทั้งหมด โดยบอกให้ลูกค้าเซ็นใบมอบอำนาจให้ เมื่อได้เงินเคลมจากบริษัทประกันภัย คนที่มาประสานงานให้จะคิดค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าประสานงานกับทาง คปภ. ซึ่งที่จริงในกระบวนการไกล่เกลี่ยจะไม่ได้คิดค่าบริการใดๆ ทำให้ลูกค้าบริษัทประกันบางคนต้องเสียเงินค่าสินไหมเกือบ 50% ให้กลุ่มคนฉวยโอกาส
นอกจากนี้ยังมี ปัญหาฉ้อฉล (ใช้อุบายหลอกลวงโกหกเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด) แก๊งเคลมประกัน หรือการซื้อหนี้ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของ คปภ. คือทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม เคลมสินไหม ง่ายไม่ซับซ้อน
คปภ. ร่วมสภาทนายความฯ ลดปัญหาคนเข้าไม่ถึงประกัน-ไม่เข้าใจกฎหมาย
ครั้งนี้สำนักงาน คปภ. ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (มีทนายที่ได้รับอนุญาตกว่า 90000 ราย) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย
วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทาง คปภ. และสภาทนายความฯ จะตั้งทีมงานมาพัฒนาวงการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนหลายด้าน 1. ความช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 2. ความร่วมมือเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองกลุ่มทนาย เช่น ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ประกันความรับผิด 3.ความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อป้องกันการฉ้อฉลและให้ข้อมูลเรื่องกฎหมายประกันภัยกับประชาชน
ปัจจุบันทางคปภ.อยู่ระหว่างปรับปรุงฐานข้อมูลสถิติการฉ้อฉลและกลโกงในระบบประกันภัย เพื่อนำมาปรับใช้กระบวนการทำงานของผู้กำกับบริษัทประกันภัยป้องกันการฉ้อฉล
ปัญหาใหญ่ คือ ประกันภัย เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยง ซึ่งเหมาะกับกลุ่มคนชนชั้นกลาง และกลุ่มรายได้น้อย แต่ปัจจุบันคนที่ใช้ประโยชน์จากประกันภัยมากที่สุดคือกลุ่มคนรวย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เช่น อุบัติเหตุคนรายได้น้อยอาจจะหมดเนื้อหมดตัวกับค่าเสียหายในอุบัติเหตุครั้งนั้น แต่คนรวยก็มีประกันภัยช่วยรับความเสี่ยง
สรุป
แม้ว่าประกันภัยจะเป็นธุรกิจที่มีกำไรต่อเนื่อง แต่ค่าสินไหมที่จ่ายออกไปในแต่ละปีบางส่วนยังไม่ถึงประชาชนคนที่ซื้อประกันจริงๆ ทว่าไปตกอยู่ในมือคนฉวยโอกาส ดังนั้นบริษัทประกันภัยและหน่วยงานผู้กำกับจำเป็นต้องให้ความรู้ พัฒนาระบบกลั่นกรองและทำขั้นตอนเคลมค่าสินไหมให้เร็วขึ้น ซับซ้อนน้อยลงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงประกันอย่างแท้จริง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา