Work From Home คนเดียวมันเหงามนุษย์เงินเดือนเผยคิดถึงวัฒนธรรมการ “เม้าท์” ในที่ทำงาน

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังมีความรุนแรง บริษัทหลายแห่งต้องอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะดีขึ้นแล้ว ก็ยังมีบริษัทบางส่วนที่ยังคงอนุญาตให้พนักงานเลือกทำงานที่บ้านได้บางวัน ในฐานะความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงานที่บริษัทมีให้

ภาพจาก Unsplash โดย Mimi Thian

ผลการสำรวจพฤติกรรมการทำงานของชาวอเมริกันจำนวน 25,000 คน เปรียบเทียบก่อนและหลังโควิดระบาดพบว่า ชาวอเมริกันกว่า 50% ทำงานที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย 15% เป็นคนที่ทำงานที่บ้านอยู่แล้ว และอีก 35% เพิ่งเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านในช่วงโควิดระบาด แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ยังคงเดินทางไปทำงานปกติ อยู่ที่ 37%

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการทำงานที่บ้าน ตั้งแต่ช่วงการก่อนแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ไม่น้อย เพราะความจริงแล้วการทำงานที่บ้านเริ่มได้รับความนิยมเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงกลาง-ปลายทศวรรษที่ 1990 ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น จนเคยมีการคาดการณ์ไปไกลว่า ในอนาคตคนจะไม่จำเป็นต้องอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ที่มีประชากรกระจุกตัวกันอีกต่อไป เพราะอินเตอร์เน็ตจะทำให้ทุกคนสามารถทำงาน ติดต่อสื่อสารกับเพื่อน คนรู้จัก ซื้อของ และใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้โดยไม่มีพรมแดน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหามลพิษในเมืองใหญ่

Work From Home ประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ขาดปฎิสัมพันธ์ระหว่างทำงาน

ที่ผ่านมาเคยมีการทดลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการทำงานที่บ้านกับการทำงานในสำนักงานหลายครั้ง หนึ่งในการทดลองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการทดลองของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Standford ที่ทำร่วมกับ CTrip บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวของประเทศจีน ที่ทดลองให้พนักงาน Call Center ทำงานที่บ้านเป็นระยะเวลา 9 เดือน

ผลการทดลองพบว่าพนักงานที่ทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น 13% แบ่งเป็น 9% จากระยะเวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้นต่อกะ (ลางาน ลาป่วยน้อยลง) และอีก 4% มาจากความสามารถในการรับสายลูกค้าที่มากขึ้นต่อนาที ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี เงียบสงบเหมาะกับการทำงานมากกว่า นอกจากนี้พนักงานที่ทำงานที่บ้านยังมีแนวโน้มมีความสุขกับการทำงานมากกว่า อัตราการลาออกจากงานก็ลดลง

พนักงานหลายคนยืนยันว่าอยากกลับเข้าสำนักงานอีกครั้ง 

แม้ว่าการทำงานที่บ้านจะมีข้อดีโดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพการทำงานที่มากกว่า มีอิสระในการจัดสรรเวลาในการทำงานได้เอง แต่ Clive Thomson นักเขียนจาก New York Times เล่าว่า บรรดาคนที่มีประสบการณ์ทำงานที่บ้านในช่วงโควิด-19 ที่เขาเคยสัมภาษณ์ล้วนอยากกลับมาทำงานที่สำนักงานอีกครั้ง แม้ว่าในสำนักงานจะมีความวุ่นวายที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่าสำนักงานไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่เป็นเหมือนสังคมที่มีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน

ภาพจาก Unsplash โดย Brooke Cagle

สำนักงานเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของพนักงานในบริษัทเดียวกัน มีเคมี และวัฒนธรรมบางอย่างที่ทำร่วมกันมา มีการติดต่อสื่อสาร ปฎิสัมพันธ์กันตลอดทั้งวัน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานและไม่เกี่ยวกับการทำงาน แม้ว่าบางครั้งการคุยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น การเดินเข้าไปหาเพื่อนร่วมงานที่โต๊ะ การหยุดคุยกันระหว่างชงกาแฟในห้องครัว เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในระหว่างการทำงานที่บ้าน ไม่มีแอปพลิเคชันใดทำหน้าที่ทดแทนในการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานที่ให้ประสบการณ์เหมือนการทำงานที่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ ได้เลย

ที่มา – WSJ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา