สำหรับคนรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ถ้าต้องการเงินฉุกเฉิน หรืออยากได้เงินก้อนเล็กๆ ไปทำธุรกิจต้องนำรถไปเป็นหลักประกันขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งในไทยมีสินเชื่อกลุ่มนี้หลักแสนล้านบาท หนึ่งในสถาบันการเงินที่เห็นกันบ่อยๆ อย่าง “เงินติดล้อ” มีแผนงานอย่างไรบ้าง?
เปิดแผนงานปี 2562 สินเชื่อโต 6% สินเชื่อใหม่ 35,000 ล้านบาท
ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด บอกว่า ปี 2562 ตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมโต 6% จากปีก่อน คิดเป็นสินเชื่อใหม่ 35,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีรายได้จากการขายประกันภัย 3,000 ล้านบาท ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 560,000 บัญชีเติบโต 25% จากปี 2561 อยู่ที่ 450,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สิ้นปี 2562 จะมี 1,000 สาขา โดยขยายพื้นที่ไปยังภาคใต้มากขึ้น และมุ่งเน้นสินเชื่อส่วนบุคคล (Plaon) ที่มีรถเป็นหลักประกันเกือบ 100% ของพอร์ตสินเชื่อ และเพิ่มบริการขายประกันภัยให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
จากต้นปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์กำกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์มากขึ้น แต่เงินติดล้ออยู่ในการดูแลของแบงก์ชาติมากหลายปีแล้ว เพราะเป็นบริษัทลูกของธนาคาร ดังนั้นผลกระทบจะตกไปอยู่กับบริษัทฯ ที่ยังไม่มีใบอนุญาตในการประกอบสินเชื่อจำนำทะเบียน หรือไม่มีใบอนุญาตทำ Nano Finance, Pico Finance
“ตั้งแต่ต้นปี 3-4 เดือนนี้ ถือว่าทำได้ตามแผน เราปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ล้านบาท เบี้ยประกันก็ขายได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้”
เผยศึกษาธุรกิจใหม่ เคยทดลองธุรกิจ Nano finance ขาดทุน 150 ล้านบาท
หลังจากธปท. ขยายเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ทางบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาปรับใช้กับธุรกิจ แต่หากต้องทำธุรกรรมฝากเงิน-ถอนเงินที่สาขา ต้องดูเรื่องความเสี่ยงและงานที่เพิ่มขึ้นในสาขา
ปัจจุบันทางบริษัทมีการทดสอบโมเดลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การให้สินเชื่อในรถยนต์ รถกระบะ มอเตอร์ไซด์ ฯลฯ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเงินติดล้อจะมี ใบอนุญาต Nano Finance และเริ่มทดลองให้บริการคือ “สินเชื่อตลาดสด” ตั้งแต่ปี 2554-2559 พบว่ามีความเสี่ยงสูง มีข้อจำกัดมาก ที่ผ่านมาขาดทุน 150 ล้านบาท ดังนั้นจากที่เคยมีพอร์ตสินเชื่อหลักพันล้านบาทปัจจุบันลดลงเหลือหลักสิบล้านบาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันทางบริษัทฯ ยังศึกษาการปล่อยสินเชื่อหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ภาครัฐเปิดใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลาย เช่น Nano Finance Pico Finance ที่มีข้อแตกต่างคือวงเงินการปล่อยสินเชื่อ ทุนจดทะเบียนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการมีข้อจำกัดอย่างไร
หัวใจธุรกิจสินเชื่อต้องคุมความเสี่ยง-NPL ให้อยู่มือ
ปัจจุบันฐานลูกค้าของเงินติดล้อรายได้เฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนมีสัดส่วน 82% ของคนไทย ส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เพราะมีอาชีพอิสระ ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้การปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยสถาบันการเงินต้องหาข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมลูกค้า และใช้ข้อมูลหลายทางเพื่อปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า ขณะเดียวกันต้องบริหารความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด
หลายปีก่อนหน้านี้ ทางเงินติดล้อให้สินเชื่อจำนำรถเฉลี่ย 8,000 บาทต่อคัน โดยมีอัตราหนี้เสีย (NPL) 3.5% แต่ปัจจุบันบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้นทำให้การปล่อยสินเชื่อจำนำรถเฉลี่ยที่ 20,000 บาทต่อคัน โดยมี NPL ที่ 1% กว่า ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าลดลงมาอยู่ที่ 0.68% ต่อเดือน (คิดเป็น 8.16% ต่อปี) แต่รายได้บริษัทยังเพิ่มขึ้น เพราะขยายฐานลูกค้าออกไปมาทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง
“ช่วงนี้ราคายาง มันสำปะหลังไม่ดี ทำให้เห็นทิศทางที่ลูกค้าชะลอการผ่อนชำระ แน่นอนว่าความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น แต่บริษัทต้องศึกษาพฤติกรรมลูกค้าและสามารถให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น ลูกค้าไม่มีรายได้ประจำ เมื่อถึงงวดที่ต้องจ่าย บริษัทอาจยืดเวลาผ่อนชำระ โดยไม่คิดต่าธรรมเนียมการติดตามหนี้ ออกไป 30 วัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจดีขึ้น คนอยากได้สินเชื่อมากขึ้น บริษัทอาจให้วงเงินที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ต้องดูพฤติกรรมลูกค้าเป็นหลัก”
สรุป
เมื่อข้อมูลพฤติกรรมลูกค้ากลายเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกธนาคาร ทุกสถาบันการเงินต้องใช้ในทุกกระบวนการปล่อยสินเชื่อ เช่น ขั้นตอนการขอสินเชื่อ ต้องรู้จักลูกค้าว่ามีรายได้จริงไหม เคยเบี้ยวหนี้หรือไม่? ตอนขอสินเชื่อได้แล้ว ต้องติดตามว่าผู้กู้มีปัญหาอะไรไหม จะได้ช่วยแก้ไขได้ทัน หรือกระทั่งตอนผิดนัดไม่จ่ายค่างวด สถาบันการเงินก็ต้องยืดหยุ่น และเข้ามาช่วยแก้ไขให้ทัน มิฉะนั้นหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นจนลดกำไรการปล่อยสินเชื่อครั้งนั้นไปเสียหมด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา