ตอนนี้กระแสรักสุขภาพยังเติบโตต่อเนื่อง และหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์คือ Plant-Based Food หรืออาหารโปรตีนจากพืช แต่กลุ่มสินค้านี้จะมีโอกาสเติบโตขนาดไหน ลองมาทำความเข้าใจผ่านมุมมองของ NRF กัน
Plant-Base Food ที่โตแบบเงียบๆ
ในตลาดโลก Plant-Based Food เติบโตอย่างชัดเจน สังเกตจากเป้ายอดขายปี 2563 ของ Beyond Meat หนึ่งในผู้นำของตลาดตั้งไว้ที่ 490-510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ระบาด) และยอดขายในไตรมาส 4 ของปี 2562 นั้นเติบโตถึง 3 เท่าตัว หรือ 98.5 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามในประเทศไทย Plant-Based Food ยังเติบโตแบบเงียบๆ เพราะด้วยราคาที่ยังสูงกว่าเนื้อสัตว์ค่อนข้างมาก เช่นราคาเนื้อหมูในวันที่ 10 ก.ย. ราคาราว 145-155 บาท/กก. (อ้างอิงกระทรวงพาณิชย์) ส่วน Plant-Based Food แบรนด์ More Meat ราคาเนื้อหมูโปรตีนจากพืช 200 กรัม อยู่ที่ 89 บาท
ดังนั้นกลุ่มคนที่เลือกซื้อ หรือรับประทาน Plant-Based Food จะเป็นกลุ่มที่รักสุขภาพจริงๆ, เป็นมังสวิรัติ หรือค่อนข้างมีกำลังซื้อ และอยากทดลองอะไรใหม่ๆ นอกจากนี้ร้านอาหารต่างๆ เริ่มทำเมนูที่มีวัตถุดิบเป็น Plant-Base Food แล้วเช่นเดียวกัน แต่ราคายังคงสูงอยู่เช่นเดิม
มากกว่าโปรตีนเกษตรที่เคยกินกัน
แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ หรือ NRF เล่าให้ฟังว่า Plant-Based Food อาจคล้ายกับเนื้อเทียมที่มีขายในเมนูต่างๆ ของช่วงเทศกาลกินเจ แต่ตัวรสชาติ และรสสัมผัสของ Plant-Based Food นั้นแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะมีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มาก
“บริษัททำตลาด Specialty Food มาระยะหนึ่งแล้ว และ Plant-Based Food คือหนึ่งในนั้น ทำให้เราเห็นการเติบโตของตลาดนี้อยู่ตลอด และเชื่อว่าสินค้านี้จะมีการเติบโตในประเทศไทยในอนาคต ผ่านกระแสรักสุขภาพในไทยที่เติบโตจนต้นทุนของสินค้าต่ำลง และใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ปกติ”
สำหรับ NRF ปัจจุบันเน้นจำหน่ายสินค้า Ethnic Food โดยเฉพาะวัตถุดิบเครื่องปรุงสำเร็จรูปที่มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วน 89% รองลงมาเป็นกลุ่ม Plant-Based Food 7% และ Functional Product 4% ซึ่งโอกาสการเติบโตของ Plant-Based Food หลังจากนี้จะมีสัดส่วนมากขึ้นอย่างแน่นอน
เน้นจับมือ Startup-กระจายการผลิต
ทั้งนี้ Plant-Based Food ยังเป็นเรื่องที่พัฒนาตลอดเวลา ทำให้ NRF ต้องร่วมมือกับ Startup ทั้งการเข้าไปลงทุน และการมีส่วนร่วมกับกองทุนที่สนับสนุนธุรกิจ Plant-Based Food โดยเฉพาะ เพื่อช่วยกันพัฒนาให้ Plant-Based Food สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งรสชาติ และรสสัมผัส รวมถึงมีต้นทุนที่ถูกลงได้
“การเข้าไปร่วมลงทุนจะช่วยให้ NRF และตลาด Plant-Based Food เติบโตได้เร็วขึ้น ดังนั้นการติดสินใจไปช่วยกันพัฒนา แทนที่จะลงทุนพัฒนาด้วยตัวบริษัทเอง น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งบริษัทคาดว่าสัดส่วนของรายได้จาก Plant-Base Food จะขึ้นเป็น 40% ของบริษัทภายในปี 2567″
ในทางกลับกัน NRF มีแผนกระจายการผลิตผ่านการจ้างโรงงานที่เชี่ยวชาญเรื่อง Plant-Based Food นอกจากสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้านี้โดยเฉพาะ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้การมีโรงงานเองอาจเป็นผลเสีย ดังนั้นการกระจายการผลิตออกไป และหาพาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจในธุรกิจน่าจะช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน
สรุป
การทำตลาด Plant-Based Food ตอนนี้อาจเร็วเกินไปในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก เพราะต้นทุนสินค้ายังสูง เข้าถึงผู้บริโภคได้แค่บางกลุ่ม แต่หากแบรนด์ใดเข้ามาชิงตลาดนี้ได้ก่อน โอกาสที่แบรนด์นั้นจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดก็มีสูง และ NRF คงอย่างเป็นแบรนด์นั้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา