ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่ยุคนี้การโตไปเป็นเจ้าคนนายคนอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป
เพราะ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางานในประเทศไทย บอกว่า หนึ่งในเทรนด์ของโลกการทำงานปีนี้ คือ “การเติบโตแบบใหม่” ในสายอาชีพ เพราะตอนนี้แนวคิดการเติบโตแบบดั้งเดิม ‘แบบไต่บันได’ สายอาชีพเริ่มไม่ตอบโจทย์พนักงานทั่วโลกแล้ว
หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโต ‘แบบแนวราบ’ แทนการเติบโตในสายงานแบบเดิม ทั้งแบบทำตำแหน่งเดิม ย้ายแผนก ย้ายบริษัท หรือการเปลี่ยนสายงานในระดับขนาน (lateral moves) ทั้งแบบอยู่ตำแหน่งเดิม แต่เรียนรู้และมีส่วนร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อเก่งขึ้นรอบด้าน หรือสิ่งที่เรียกว่า การเติบโตข้ามสายงาน (cross-functional growth)
ไปจนถึงการพัฒนาทักษะใหม่ๆ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ รับตำแหน่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในบริษัท หรือการพัฒนาบนพื้นฐานของทักษะ (skills-based progression)
ขณะที่ ‘พนักงานไทย’ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับ ‘ทักษะความเป็นผู้นำ’ (38%) เป็นหลักในการต่อยอดอาชีพ เพราะช่วยพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการ-การตัดสินใจ แล้วถึงตามมาด้วย ‘การพัฒนาทักษะเฉพาะทาง’ และ ‘การเติบโตตามโครงสร้างองค์กร’ ที่ตอบโจทย์คนที่ต้องการความชัดเจนในการพัฒนาอาชีพ
นอกจากนั้น โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ยังพูดถึงรายงาน Future of Jobs Report 2025 ของ World Economic Forum ด้วย เพราะรายงานดังกล่าวบอกว่า ในปี 2030 กว่า 39% ของทักษะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย ทำให้พนักงานจำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะใหม่หรือ upskill ทั้งในด้านเทคโนโลยีและทักษะเชิงมนุษย์ (soft skills) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ในส่วนของประเทศไทย แนวโน้มนี้มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับ
- ความรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy)
- การวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis)
- ความสามารถในการปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น
นอกจากนี้ ทักษะที่ไม่ใช่ด้านเทคนิคหลายๆ อย่างก็ได้รับความสำคัญมากขึ้นในหมู่องค์กรไทย อาทิ
- การสื่อสาร (communication)
- ความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม (cultural awareness)
- ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)
เพราะเป็นทักษะที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้พนักงานสามารถรับมือกับความท้าทาย และเติบโตท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมั่นคง
- ผู้นำห่วย เราจะซวยกันหมด เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ชี้ หัวหน้า 4 แบบ ที่คนทำงานไม่อยากทน
- บริษัทในไทยเริ่มเรียก ‘วัยเกษียณ’ กลับมาทำงาน มองมีครบประสบการณ์-ทักษะชีวิต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา