เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศว่า จะเปิดโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทยให้ประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2018 เป็นต้นไป
Brand Inside เดินทางไปเยี่ยมชมในวันเปิดให้บริการวันแรก เลยนำรีวิวมาให้ได้ดูกันว่า พื้นที่เดิมของโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทย แถมในอดีตยังเป็นเขตหวงห้ามพิเศษ แต่วันนี้ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้แล้ว
ก่อนอื่น นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้ (ย่อยมาให้แล้ว)
โรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม เป็นโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทย ก่อตั้งเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2512 แต่ได้เลิกใช้งานไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เนื่องจากข้อจำกัดของโรงพิมพ์ทำให้ไม่สามารถผลิตธนบัตรได้ทันความต้องการที่สูงขึ้น โดยโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งใหม่ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี บริเวณพุทธมณฑลสาย 7 และเมื่อย้ายออกไปแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้รีโนเวทพื้นที่โรงพิมพ์ธนบัตรแห่งเดิมนี้ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินแบบบูรณาการ โดยประกอบไปด้วยโซนพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด นิทรรศการ และพื้นที่กิจกรรม
เดินทางมาอย่างไร?
เอาเป็นว่า ถ้าใครที่เดินทางมายังวังบางขุนพรม หรือธนาคารแห่งประเทศไทยได้ การจะเดินทางมาเยี่ยมชมนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทยก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสะพานพระราม 8 ตรงข้ามกับวังบางขุนพรหมหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อหาตัวอาคารศูนย์เรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยเจอแล้ว เดินเข้ามาภายในอาคารจะพบกับเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นสิ่งของ เสร็จสิ้นจากนั้น เราก็ไปเริ่มกันเลย!
เมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคาร จะพบกับทางเดินด้านขวามือ พาไปยังนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร
แต่ช้าก่อน! การจะเข้าชมโรงพิมพ์ธนบัตร ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ เพราะจะมีวิทยากรมานำชม พร้อมกับให้ความรู้ไปตลอดเส้นทาง
การเยี่ยมชมนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตรจะให้เข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยเวลาในการเข้าชมจะใช้ในแต่ละรอบประมาณ 1 – 1.30 ชั่วโมง และเริ่มเป็นรอบดังนี้คือ 9.30, 10.00, 10.30, 11.00, 13.00, 13.30, และ 14.30 ส่วนการให้บริการเปิดตั้งแต่วันอังคาร – วันอาทิตย์ ปิดเพียงวันเดียวคือวันจันทร์เท่านั้น
เข้าสู่พื้นที่นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร
บริเวณนี้คือนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร มีวิทยากรให้ความรู้เรื่องธนบัตรไล่เรียงมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งมี วิดีทัศน์เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยฉายให้ชมสั้นๆ ส่วนไฮท์ไลท์ของงานคือเจ้าเครื่องยักษ์ต่างๆ ด้านหลัง โดยหลักๆ มีทั้งหมด 3 เครื่องที่ใช้ในกระบวนการพิมพ์ธนบัตร
เครื่องที่ 1 : เครื่องพิมพ์สีพื้น
วิทยากร เล่าให้ฟังว่า เครื่องนี้เป็นเครื่องพิมพ์สีพื้นธนบัตรที่ประกอบชิ้นส่วนมาจากหลายประเทศ มีทั้งเยอรมนี ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่พัฒนามากนัก การประกอบเครื่องพิมพ์เครื่องหนึ่งจึงต้องใช้วัสดุชิ้นส่วนจากหลายประเทศ
เมื่อพิมพ์สีพื้นแล้ว จะได้ธนบัตรหน้าตาออกมาเป็นแบบนี้
เครื่องที่ 2 : เครื่องพิมพ์เส้นนูน
เครื่องพิมพ์เส้นนูนเป็นเครื่องที่อัดหมึกพิมพ์ลงไปบนธนบัตรโดยตรง ทำให้เมื่อสัมผัสผิวธนบัตรจะรู้สึกได้ถึงความนูน สูงกว่ากระดาษปกติ
เครื่องที่ 3 : เครื่องพิมพ์เลขหมายลายเซ็น
เป็นเครื่องพิมพ์ธนบัตรอีกชนิดหนึ่งที่เป็นระบบพิมพ์ทางตรง ใช้พิมพ์ตัวหนังสือหรือตัวเลขบนธนบัตร
นอกจากนั้น ยังมีเครื่องเขียนลวดลายเฟื่องหรือเครื่องกีโลช ประโยชน์คือทำให้ลายเส้นบนธนบัตรมีความซับซ้อน
- หลังจากเสร็จสิ้นจากนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตรแล้ว เจ้าหน้าที่จะพาเราไปยังห้องถัดไปเพื่อชมห้องต่างๆ ในส่วนถัดไป เช่น ห้องมั่นคง เป็นห้องที่เก็บรักษาเงินของประชาชนมีระบบคุ้มกันแน่นหนารักษาความปลอดภัย รวมถึงจะพาไปชมพิพิธภัณฑ์เงินตราที่อยู่ชั้น B1 และ B2 เพื่อให้รู้ถึงประวัติศาสต์ความเป็นมาของระบบเงินตราในโลกและในไทย
6 เดือนนี้เข้าฟรี พ้นจากนี้มี 2 ทางเลือก เสียค่าเข้า หรือ สมัครสมาชิก
หลังจากพ้น 6 เดือนนี้ไปแล้ว หรือนับตั้งแต่ วันที่ 4 เดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นไป ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคิดค่าเข้าชมในอัตราเดียวคือ 50 บาทต่อคนต่อครั้ง หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ สมัครสมาชิกในราคา 1,500 ต่อปี ในส่วนนี้จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าใช้ห้องพื้นที่พิเศษในห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพื้นที่อื่นๆ ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยทำไว้ให้เป็นแนว Co-working space เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ความเห็นของ Brand Inside ต่อการเข้าชมนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร
ความน่าตื่นตาตื่นใจในที่มาของเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจทำให้หลายคนอยากจะเข้าไปศึกษา เรียนรู้ ซึ่งถือเป็นสิ่งดี แต่รูปแบบการนำไปสัมผัสบรรยากาศนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างเป็นทางการ ในแง่นี้อาจดึงดูดเฉพาะคนที่สนใจจริงๆ เท่านั้น ส่วนคนทั่วไปอาจรู้สึกถึงความเข้มขลัง สุภาพเกินควร และลึกซึ้งเกินไป แต่ถึงอย่างไร จากประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัสนิทรรศการนี้ก็ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแหล่งเดียวที่รวมศูนย์อำนาจความรู้และทรัพยากรของที่มาเรื่องเงินตราในประเทศไทยไว้ได้อย่างครบถ้วนที่สุด และมากกว่านั้นการปรับจากพื้นที่ราชการให้เป็นพื้นที่สาธารณะถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีทีเดียว
ส่วนด้านล่างนี้คือข้อเสนอหลังจากที่ได้เข้าชม
- ในส่วนนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตรอาจปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้มาก นอกจากรูปแบบการนำเสนอที่ต้องทำให้เข้าถึงคนทั่วๆ ไปมากขึ้น เช่นอาจจะนำเอาเทคโนโลยี AR/VR มาใช้ในการเข้าถึงการทำงานของเครื่องพิมพ์ธนบัตร หรือลดความเป็นทางการลงด้วยการทำให้การเข้าถึงความรู้ เป็น “ความบันเทิง/พักผ่อนหย่อนใจ” มากกว่านี้
- ส่วนพิพิธภัณฑ์เงินตราที่เป็นของแถมนั้น ในเมื่อไล่เรียงประวัติศาสตร์เงินๆ ทองๆ มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของโลกมาจนถึงไทย อันที่จริงก็น่าจะจัดนิทรรศการให้เข้ากับบรรยากาศ 4.0 เช่น จัดนิทรรศการพิเศษเป็นภาคต่อเรื่องการเงิน แล้วเล่าเฉพาะที่มาที่ไปของสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ว่าคืออะไร แล้วประชาชนควรรู้อะไรบ้าง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่อง แต่ผมว่าน่าจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ ที่ทั้งอาจจะสนใจหรือไม่สนใจ แต่ในเมื่อกระแสยังอยู่ ก็อาจพัดพาให้เข้าไปชมสักครั้ง…ก็เป็นได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา