อวสานน้ำมันปาล์ม นอร์เวย์ประกาศแบนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มปี 2020

น้ำมันปาล์ม-เชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่นอร์เวย์ตระหนักดีว่า ไม่มากก็น้อยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ล่าสุด สภาจึงลงมติห้ามการใช้น้ำมันปาล์มและเชื้อเพลิงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม
ปาล์มน้ำมัน Photo: Shutterstock

นอร์เวย์ประกาศแบนน้ำมันปาล์ม-เชื้อเพลิงที่อันตรายในปี 2020

ในปี 2017 ที่ผ่านมา นอร์เวย์มีสถิติการบริโภคน้ำมันปาล์มเชื้อเพลิงในปริมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ (all-time high) โดยเป็นผลมาจากการที่ก่อนหน้านี้ นอร์เวย์ประกาศแบนเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงทำให้อุตสากรรมเชื้อเพลิงในนอร์เวย์หันไปพึ่งน้ำมันปาล์มในการผลิต จากข้อมูลระบุว่าน้ำมันดีเซลในนอร์เวย์ผลิตมาจากน้ำมันปาล์มถึง 10%

ล่าสุด รัฐสภานอร์เวย์ลงมติเสียงข้างมาก ประกาศห้ามอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันเชื้อเพลิงใดๆ ที่มีความเชื่อมโยงต่อการทำลายป่าไม้หรือส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

  • มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2020 เป็นต้นไป

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของเรื่องนี้มาจากการที่นอร์เวย์มองว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีส่วนต่อการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายที่อยู่อาศัยของคนพื้นถิ่น-สัตว์ป่า และนอกจากนั้นยังส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันก่อให้เกิดผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโลก

ผลักดันพลังงานไฟฟ้า ตอบโจทย์อนาคตสิ่งแวดล้อม

ถ้าดูจากแนวโน้ม ชัดเจนว่าคำตอบในอนาคตของนอร์เวย์เรื่องพลังงาน คือ “ไฟฟ้า”

นอร์เวย์ตั้งเป้าในระดับประเทศไว้ว่าในปี 2025 ทั้งประเทศจะไม่มีรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันขายในตลาดอีกต่อไป แต่จะเหลือเพียง “รถยนต์ไฟฟ้า” เท่านั้นที่จะวางจำหน่ายในประเทศ

Nils Hermann Ranum นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในนอร์เวย์ ระบุว่า “การตัดสินใจของรัฐสภานอร์เวย์ในครั้งนี้คือชัยชนะของการต่อสู้เพื่อธรรมชาติ ป่าไม้ และภูมิอากาศ การตัดสินใจของรัฐสภานอร์เวย์ในครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญสำหรับประเทศอื่นๆ เพราะได้เน้นย้ำถึงการปฏิรูปวงการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างจริงจัง”

อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศแบนน้ำมันปาล์มในลักษณะนี้ ส่วนด้านของสภาพยุโรปได้ลงมติเพื่อห้ามการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน แต่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2030

ที่มา – Goodnewsnetwork

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา