จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่แน่นอนสูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศที่มีข้อกำหนดการทานอาหารที่ร้านในบางพื้นที่ ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านน่าจะปรับตัวลดลง
อีกทั้งผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางส่วนตัดสินใจชะลอการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกไป มีการปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มการจำหน่ายออนไลน์คู่กับการจัดส่งถึงบ้าน ตลอดจนการจัดแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าจะส่งผลให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ในปี 2564 น่าจะเติบโตได้ระดับเดียวกับปี 61-62 (ก่อนโควิดระบาด)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverge) แบบพร้อมดื่มปี 64 น่าจะอยู่ที่ 1.97-1.99 แสนล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.5%-1.5% จากฐานต่ำในปี 63 อัตราการเติบโตของเครื่องดื่มรายประเภทส่วนใหญ่หดตัว ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเริ่มปรับกลยุทธ์การขายให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบ New Normal
การฟื้นตัวในปี 2564 น่าจะยังไม่กลับสู่ระดับเดียวกับปี 2562 เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากโควิดระบาดอยู่ กำลังซื้อโดยรวมยังเปราะบางและยังไม่ดีขึ้นมากนัก ทั้งจากความเสี่ยงเรื่องการมีงานทำและความกังวลต่อความมั่นคงของรายได้
หากสามารถควบคุมการระบาดของโควิดระลอกใหม่ได้ภายใน 1-2 เดือน จะส่งผลบวกต่อตลาดเครื่องดื่ม โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนที่เป็นจุดพีคของธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม และโซดา
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มกาแฟพร้อมดื่มแบบ Speciality ที่เน้นคอกาแฟและน้ำผสมวิตามิน และ functional drink อื่นๆ (เครื่องดื่มที่ให้ประโยชน์กับร่างกาย เช่น เครื่องดื่มจำพวกย่อยอาหาร บำรุงสมอง ฯลฯ) จะเติบโตกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของตลาด เนื่องจากยังดึงดูดผู้มีกำลังซื้อและมองหาเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เฉพาะได้ โดยภาพรวมแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมและทำตลาด Mass จะแปรผันตามกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก
เรียกได้ว่า เครื่องดื่มแบบ Mass จะไม่ตอบโจทย์เท่าตลาด Niche แม้จะรักษาฐานลูกค้าหรือส่วนแบ่งตลาดได้ แต่แบบ Niche ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มจะเติบโตได้ดีกว่าอัตราเฉลี่ยของตลาด แต่ก็ถือว่ายังมีส่วนแบ่งตลาดน้อย
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแข่งขันในตลาดจะยังเข้มข้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เราจะเห็นการปรับตัวของธุรกิจในหลายรูปแบบ ทั้งการหาช่องว่างของประเภทเครื่องดื่มดั้งเดิม เช่น น้ำผสมวิตามินที่ตอบโจทย์เทรนด์ functional drink ทั้งการตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มเช่นกาแฟ Cold Brew การมุ่งเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติใหม่ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์และปรับรสชาติใหม่
การแข่งขันในตลาดที่เข้มข้นและภาวะกำลังซื้อที่ยังเปราะบางในปี 2564 นี้ ยังมีปัจจัยระยะกลางที่ส่งผลต่อทุนธุรกิจและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเช่น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มครั้งที่ 3 ที่ส่งผลต่อต้นทุนในการพัฒนาและทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การเก็บภาษีที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่น เก็บตามขั้นบันไดตามปริมาณน้ำตาล เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งสูตรลดน้ำตาล ลดความหวาน ใช้สารความหวานแทน มีฉลากสินค้าทางเลือกคุณภาพ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา