กินผักให้ปลอดภัยกับ noBitter โรงปลูกผักไฮโดรที่ใหญ่ที่สุด กลางสยามสแควร์

ขณะที่นั่งกินสลัดผักจานใหญ่เพื่อสุขภาพอย่างสบายใจ ก็พลันคิดขึ้นมาได้ว่า ผักที่เรากินกันทุกวันนี้ ปลูกจากที่ไหน ใช้สารเคมีหรือไม่ ขนส่งอย่างไร ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง ก่อนจะมาถึงตลาด ขายหมดหรือเก็บมาแล้วกี่วัน สุดท้ายก่อนมาถึงมือเรา

แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าผักที่เรากินอยู่ทุกวัน ปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี หรือปลอดภัยจริงๆ และนี่เป็นคำถามเดียวกับ วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ หรือ ดร.ดิ๊ง ผู้ก่อตั้ง noBitter โรงปลูกผักที่ใหญ่ที่สุดกลางสยามสแควร์

อยากปลูกผัก ณ จุดขาย เริ่มต้น noBitter

ดร.ดิ๊ง บอกว่า จากแนวคิดที่อยากปลูกผัก ณ จุดที่ขาย เพื่อให้ได้ผู้บริโภคได้ผักที่สด และรู้แหล่งปลูกชัดเจนมาดูกระบวนการปลูกได้เลย จึงเป็นที่มาของ 4 ผู้ก่อตั้งที่คุยกันและเลือกวิธี Hydroponics เพราะสามารถทำได้ในเมือง หรือในพื้นที่จำกัด

และสถานที่ที่เลือกคือ Space@Siam พื้นที่ Co-Working Space ที่สยามสแควร์ซอย 2 ซึ่งมีพื้นที่ชั้นบนสุดว่างพอดี ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เกิดเป็นเฟสแรกของ noBitter ขึ้นมา

“เริ่มต้นเจอปัญหาเยอะมาก โรงผักน้ำรั่ว ผักไม่ได้คุณภาพ แต่ทุกคนเอาจริงเอาจัง ไม่ยกเลิก ไปเริ่มต้นศึกษากันใหม่หมด ทั้งเรื่อง Hydroponics, Vertical Farm และ Plant Factory และปรับให้เป็นสไตล์ของ noBitter”

ตอนแรกสุดด้วยพื้นฐานการเป็นคนไอที เป็นโปรแกรมเมอร์ จึงพยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปลูก จะเป็น Smart Farmer แต่สุดท้ายก็รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสม

ผักอายุสั้น noBitter แก้ปัญหา Supply Chain

จากที่กล่าวตั้งแต่ต้น ปัญหาหลักประการหนึ่งของผัก คือ Supply Chain คือ ผู้บริโภคไม่รู้ว่าผักมาจากไหน ปลูกอย่างไร และกว่าจะขนส่งมาถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ผู้บริโภคเองก็ชอบซื้อผักสวยๆ แต่ผักก็อายุสั้น จะได้คุณภาพที่ดีควรเก็บขายและกินภายใน 3 วัน ดังนั้นทางออกของ noBitter คือ ปลูกผัก ณ จุดที่ขาย และถ้าต้องแก้ปัญหาของคนเมือง นั่นคือ พื้นที่จำกัด ทางออกจึงเป็นวิธีการปลูกแบบ Hydroponics ที่สำคัญคือ การปลูกในโรงผัก สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ดี ประกอบด้วย

  1. อุณหภูมิ ทั้งอากาศและน้ำ ซึ่งของ noBitter เปิดแอร์ให้ผักตลอดเวลา
  2. ความชื้น ทั้งอากาศและน้ำในโรงผัก ทำให้ควบคุมได้ดีกว่ากลางแจ้ง
  3. สารอาหาร ต้องได้รับการควบคุมให้เหมาะสม
  4. คาร์บอนไดออกไซด์
  5. แสง เพื่อช่วยในการสังเคราะห์แสง

Hydroponics ปลูกให้ถูกต้อง ได้ผักคุณภาพ ปลอดสารเคมี

มีหลายคนบอกว่า การปลูกผักในน้ำ หรือ Hydroponics ไม่ปลอดภัย เพราะผักที่ปลูกได้รับสารอาหารเป็นเคมี แต่แท้จริง ถ้ามีการควบคุมอย่างถูกต้อง จะทำให้ได้ผักที่มีคุณภาพ เร่งโตได้ ป้องกันแมลงได้

noBitter เลือกปลูกผักคะน้าใบหยิก หรือ ผักเคล (Kale) ซึ่งปกติเป็นพืชเมืองหนาว มีสารอาหารสูงมาก มีโปรตีน ถือเป็น Super Food แต่ไม่สามารถปลูกกลางแจ้งในบ้านเราได้ จึงต้องปลูกในโรงผักเท่านั้น และปกติถ้าปลูกกลางแจ้ง ใช้เวลา 75 วันถึงเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าปลูกในโรงผักใช้เวลา 30 วันเท่านั้น

noBitter เลือกมาปลูก 2 ชนิด คือ Dwarf Curled Kale ต้นเล็กใบหยิก และ Siberian Kale สายพันธุ์จากรัสเซีย

แต่สาระสำคัญที่สุด ต้องถ่ายปุ๋ยออก ให้น้ำเปล่าเท่านั้นในระบบ Hydroponics ประมาณ 2-3 วันก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้พืชสังเคราะห์แสงให้หมด ไม่มีสารเคมีตกค้าง จากนั้นจึงเก็บเกี่ยวโดยการตัดใบขาย ส่วนต้น รอใบงอกใหม่ได้ 1 ต้นใช้ได้ประมาณ 6 เดือน

ความต้องการสูง ปลูกไม่ทันขาย!

noBitter ยังอยู่ในช่วงเฟสแรก ทดลองปลูกมาประมาณ 1 ปี หลังจากแก้ปัญหาทุกอย่างได้ อยู่ระหว่างการพัฒนานำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมกับขยายสาขา (แหล่งปลูก) พื้นที่ใหม่ๆ โดยที่สยามสแควร์ จะใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้เป็นหลัก เพราะปลูกยังไงก็ไม่คุ้มต้นทุนค่าสถานที่

ปัจจุบันทดลองขายทางออนไลน์เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียงระแวกสยามสแควร์ 1 ถุง 200 กรัม ราคา 99 บาท ปรากฎว่ามียอดสั่งซื้อหมด สั่งจองล่วงหน้าจนผลิตไม่ทันขาย

เป้าหมายจากนี้ ต้องขยายธุรกิจ อาจมีการ Raise Fund เพื่อหาคน หาสถานที่ และทดลองการปลูกแบบอื่นๆ เช่น Substrate ปลูกบนสิ่งแทนดิน หรือ Aeroponics ปลูกในอากาศ ซึ่งกว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์เต็มตัว อาจต้องรอถึงเฟส 3

สรุป

ดร.ดิ๊ง บอกว่า หลังจากที่ทำมา 1 ปี เรียนรู้เลยว่า พืชผัก เป็นสิ่งที่รีบเร่งไม่ได้ ต้องรอเท่านั้น การเป็นคนไอที รู้วิธีการทำงานแบบ Agile รู้ว่าต้องเร่งสปีดอย่างไร แต่กับธรรมชาติ ต้องเรียนรู้และรอคอย

แต่เป้าหมายยังคงเดิม นั่นคือ สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนเมือง ปลูกผักในห้องแถว ในห้องขนาด 21 ตร.ม. ทำงานในห้องแอร์ ไม่มียาฆ่าแมลง ดูแลไม่ยาก ใครก็สามารถทำได้ และได้ผักที่ปลอดภัยกับชีวิตจริงๆ

กลายเป็นที่มาของชื่อ noBitter ผักไม่ขม ชีวิตไม่ขม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา