รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2019 นี้ เป็นของผู้ต่อสู้เพื่อความยากจน

นักเศรษฐศาสตร์ 3 รายที่ได้รับรางวัลโนเบลทำงานต่อสู้เพื่อความยากจนนี้คือ อภิจิต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee), เอสเทอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) และไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer อายุ 54 ปี)

เอสเทอร์ ดูโฟล (ซ้าย), ราฟาเอล เรฟ (กลาง ประธาน MIT) อภิจิต บาเนอร์จี (ขวา) ภาพจาก Getty Images

เอสเทอร์ ดูโฟลเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลผู้มีอายุน้อยที่สุดคืออายุ 46 ปี และยังเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับชัยชนะนี้ด้วย (คนแรกคือ Elinor Ostrom ได้รับโนเบลเมื่อปี 2009 – 10 ปีที่แล้ว) ดูโฟลยังเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาด้วย 

เธอรับรางวัลร่วมกับสามีของเธอ อภิจิต เบอร์นาจี อายุ 58 ปี ทั้งคู่เป็นศาสตราจารย์จาก MIT หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเชตส์ ขณะที่เครเมอร์เป็นศาสตราจาร์ยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ผู้คนกว่า 700 ล้านคนยังมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ต่ำมาก และยังมีเด็กอีกราวๆ 5 ล้านรายที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบต้องตายทุกๆ ปี จากโรคที่สามารถป้องกันได้หรือรักษาให้หายได้ด้วยค่ารักษาดูแลที่ไม่ได้มีราคาแพงเลย เด็กๆ กว่าครึ่งโลกยังไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน ขาดความรู้ในการฟังพูดอ่านเขียนและการคำนวณ

เนื้อหาโดยรวมของงานวิจัยที่ต่อสู้เพื่อความยากจนนี้ ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยตอบโจทย์ให้โลกต่อสู้กับความยากจนได้ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามจัดการ การตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ เช่น จะมีมาตรการใดที่สามารถแทรกแซงเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กๆ ได้บ้าง พวกเขาพยายามตั้งคำถามและออกแบบผลการทดลองแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

เอสเทอร์ ดูโฟล (ซ้าย) อภิจิต บาเนอร์จี (ขวา) ภาพจาก Getty Images

การทดลองแนวนี้ ไมเคิล เครเมอร์เคยศึกษามาบ้างแล้วในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เพื่อทดสอบและพัฒนาชีวิตเด็กๆ ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในทางทิศตะวันตกของเคนยา เครเมอร์ทดลองนโยบายในโรงเรียนในเคนยา เช่น แจกหนังสือเพิ่มคะแนนในเด็กเรียนดี เพิ่มนโยบายสุขภาพเพื่อลดการขาดเรียน ขณะที่ดูโฟลและบาเนอร์จีก็เอางานนี้มาทำต่อในอินเดีย ก็พบว่าการบังคับไปโรงเรียนไม่ช่วยลดความยากจน

ทั้งดูโฟลและอภิจิตตัดสินใจศึกษาในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดโดยการสุ่มสำรวจในอินเดียและแอฟริกา และทำความเข้าใจว่าพวกเขามีความเป็นอยู่ยังไง คนจนมักจะซื้ออะไร เขาทำอะไรที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็กๆ บ้าง พวกเขามีลูกกันกี่คน ทำไมเด็กบางคนได้รับการศึกษาแต่บางคนไม่ พวกเขากินอยู่ยังไง กินเพียงพอไหม เหล่านี้ล้วนทำให้เห็นการบริโภคของคนจนในชนบท จากนั้นพวกเขาก็เสนอแนะนโยบายแก่รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศให้มีการทบทวนนโยบายด้านอาหารแก่ประชาชนใหม่ 

ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ก็ให้ความชื่นชมกับรางวัลที่เธอได้และเห็นว่าเป็นความงดงามอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องนี้สามารถสร้างผลกระทบของความอยู่ดีของมวลมนุษยชาติได้

ด้านบาเนอร์จี สามีของดูโฟล ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองก็รู้สึกตื่นเต้นกับงานวิจัยดังกล่าวที่สามารถช่วยลดความยากจนได้ รางวัลโนเบลนี้จะได้เงินรางวัลที่ 9 ล้านโครนอร์ หรือประมาณ 914,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 833,000 ยูโร หรือประมาณ 27.4 ล้านบาท

ไมเคิล เครเมอร์ ภาพจาก Getty Images

ที่มา – Rappler, Nobel Prize, BBC, The Guardian

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์