นักเศรษฐศาสตร์ 3 รายที่ได้รับรางวัลโนเบลทำงานต่อสู้เพื่อความยากจนนี้คือ อภิจิต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee), เอสเทอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) และไมเคิล เครเมอร์ (Michael Kremer อายุ 54 ปี)
เอสเทอร์ ดูโฟลเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลผู้มีอายุน้อยที่สุดคืออายุ 46 ปี และยังเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับชัยชนะนี้ด้วย (คนแรกคือ Elinor Ostrom ได้รับโนเบลเมื่อปี 2009 – 10 ปีที่แล้ว) ดูโฟลยังเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาด้วย
เธอรับรางวัลร่วมกับสามีของเธอ อภิจิต เบอร์นาจี อายุ 58 ปี ทั้งคู่เป็นศาสตราจารย์จาก MIT หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเชตส์ ขณะที่เครเมอร์เป็นศาสตราจาร์ยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ผู้คนกว่า 700 ล้านคนยังมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ต่ำมาก และยังมีเด็กอีกราวๆ 5 ล้านรายที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบต้องตายทุกๆ ปี จากโรคที่สามารถป้องกันได้หรือรักษาให้หายได้ด้วยค่ารักษาดูแลที่ไม่ได้มีราคาแพงเลย เด็กๆ กว่าครึ่งโลกยังไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน ขาดความรู้ในการฟังพูดอ่านเขียนและการคำนวณ
เนื้อหาโดยรวมของงานวิจัยที่ต่อสู้เพื่อความยากจนนี้ ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยตอบโจทย์ให้โลกต่อสู้กับความยากจนได้ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามจัดการ การตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ เช่น จะมีมาตรการใดที่สามารถแทรกแซงเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กๆ ได้บ้าง พวกเขาพยายามตั้งคำถามและออกแบบผลการทดลองแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
การทดลองแนวนี้ ไมเคิล เครเมอร์เคยศึกษามาบ้างแล้วในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เพื่อทดสอบและพัฒนาชีวิตเด็กๆ ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในทางทิศตะวันตกของเคนยา เครเมอร์ทดลองนโยบายในโรงเรียนในเคนยา เช่น แจกหนังสือเพิ่มคะแนนในเด็กเรียนดี เพิ่มนโยบายสุขภาพเพื่อลดการขาดเรียน ขณะที่ดูโฟลและบาเนอร์จีก็เอางานนี้มาทำต่อในอินเดีย ก็พบว่าการบังคับไปโรงเรียนไม่ช่วยลดความยากจน
ทั้งดูโฟลและอภิจิตตัดสินใจศึกษาในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดโดยการสุ่มสำรวจในอินเดียและแอฟริกา และทำความเข้าใจว่าพวกเขามีความเป็นอยู่ยังไง คนจนมักจะซื้ออะไร เขาทำอะไรที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็กๆ บ้าง พวกเขามีลูกกันกี่คน ทำไมเด็กบางคนได้รับการศึกษาแต่บางคนไม่ พวกเขากินอยู่ยังไง กินเพียงพอไหม เหล่านี้ล้วนทำให้เห็นการบริโภคของคนจนในชนบท จากนั้นพวกเขาก็เสนอแนะนโยบายแก่รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศให้มีการทบทวนนโยบายด้านอาหารแก่ประชาชนใหม่
ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ก็ให้ความชื่นชมกับรางวัลที่เธอได้และเห็นว่าเป็นความงดงามอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องนี้สามารถสร้างผลกระทบของความอยู่ดีของมวลมนุษยชาติได้
ด้านบาเนอร์จี สามีของดูโฟล ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเองก็รู้สึกตื่นเต้นกับงานวิจัยดังกล่าวที่สามารถช่วยลดความยากจนได้ รางวัลโนเบลนี้จะได้เงินรางวัลที่ 9 ล้านโครนอร์ หรือประมาณ 914,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 833,000 ยูโร หรือประมาณ 27.4 ล้านบาท
ที่มา – Rappler, Nobel Prize, BBC, The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา