สตาร์ทอัพเกาหลี ผ่านมา 10 ปี ไม่มีบริษัทใหม่เติบโตระดับโลก ผลของการผูกขาดธุรกิจ

Seoul South Korea เกาหลีใต้ กรุงโซล
ภาพจาก Shutterstock

เกาหลีใต้ และไฟเศรษฐกิจที่จุดไม่ติดเหมือนแต่ก่อน

ประเทศเกาหลีใต้เคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน 4 เสือทางเศรษฐกิจของเอเชียเมื่อครั้งที่เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเติบโตอย่างน่ามหัศจรรย์จนถูกเรียกว่าปาฏิหาริย์แห่งเอเชีย 

แต่มาวันนี้ มีข้อสังเกตที่น่าตกใจซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้กำลังมีปัญหา สวนทางกับประเทศอื่นที่เศรษฐกิจดีวันดีคืน

ไร้เงาบริษัทใหม่จากเกาหลี ใน Top 100 บริษัทที่ดีที่สุด

ในปี 2020 มีบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้เพียง 1 บริษัทเท่านั้นที่ติด 100 อันดับของบริษัทที่ดีที่สุดในโลก นั่นคือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์เจ้าเก่าเจ้าเดิมอย่าง Samsung

  • ในขณะที่สหรัฐฯ มี 37 บริษัท
  • จีนมี 18 บริษัท
  • ญี่ปุ่นมี 8 บริษัท

ที่น่าตกใจและแสดงให้เห็นแผลลึกของโครงสร้างเกาหลีใต้มากกว่านั้นคือ ในรอบ 10 ปี ไม่มีบริษัทใหม่จากเกาหลีใต้ที่พัฒนาจนก้าวขึ้นมาติด 100 อันดับแรกได้สำเร็จ สวนทางกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ที่มีบริษัทใหม่ถึง 9 บริษัท และญี่ปุ่น 5 บริษัท ส่วนการเข้ามาของบริษัทหน้าใหม่ของจีนน่าประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะมีบริษัทใหม่ถึง 11 บริษัท ที่ก้าวเข้ามาติด 100 อันดับบริษัทที่ดีที่สุดในโลก

Samsung ซัมซุง
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานการศึกษา The Metabolism of South Korean Companies Seen Through the Lens of an International Comparison โดย หอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบ ยอดขาย สินทรัพย์ มูลค่าตามราคาตลาด และกำไรสุทธิ ของกลุ่มบริษัท Forbes’ Global 2000 

รายงานฉบับนี้ให้เหตุผลว่า ทำไมโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีไม่เอื้อให้บริษัทหน้าใหม่ติดอันดับระดับโลกไว้ดังนี้

โอกาสและความมั่งคั่งวนเวียนอยู่ในบริษัทเดิมๆ

เมื่อเปรียบเทียบบริษัทที่ดีที่สุด 10 อันดับแรกของเกาหลีใต้และอเมริกา ทำให้เราได้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่น่าตกใจ คือ 

  • ในสหรัฐฯ มีบริษัทใหม่ถึง 7 บริษัท ที่ก้าวขึ้นมาแทนที่ 10 อันดับเดิม ในช่วงเวลา 10 ปี
  • ในเกาหลีใต้ มีบริษัทใหม่เพียง 3 บริษัท ที่ก้าวขึ้นมาแทนที่ 10 อันดับเดิมในช่วงเวลา 10 ปี

เมื่อพิจารณาลึกลงไปอีก ในสหรัฐ โอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นกับบริษัทใหม่ๆ ที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย บริษัทในอุตสาหกรรมใหม่ (เช่น IT และบริการด้านสุขภาพ) เข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิม (เช่นอุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน) ในเกาหลีใต้ บริษัทดั้งเดิมสามารถคงอำนาจเหนือตลาดไว้ได้และไม่มีใครมาแทนที่ 

Seoul South Korea โซล เกาหลีใต้
ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ มีรายงานจาก Forbes ว่า ในเกาหลีใต้มีเศรษฐีเพียง 57.1% เท่านั้นที่ร่ำรวยจากการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง ในขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 69.7% ในขณะที่ญี่ปุ่นมีถึง 80% และในจีนถึง 97% 

ข้อมูลชุดนี้แสดงให้เห็นว่าความมั่งคั่ง ซึ่งสามารถนำไปลงทุนพัฒนาธุรกิจ หมุนวนอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมๆ จนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้สูงในปัจจุบันไม่สามารถเติบโตขึ้นมาได้ และทำให้เศรษฐกิจเกาหลีมีความผูกขาดและขาดความสร้างสรรค์

ขาดความสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความผูกขาดส่งผลให้เกิดปัญหาในข้อที่สอง คือ “การขาดความสร้างสรรค์และนวัตกรรม” เนื่องจากในขณะที่ Startup ในประเทศอื่นมักจะสามารถไขว่ขว้าโอกาสจนประสบความสำเร็จได้ โครงสร้างที่ผูกขาดกว่าในเกาหลีใต้ทำให้ Startup ต้องเจออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ขาดเงินทุน เสมือนมีกระจกใสบางๆ ที่กั้นโอกาสไม่ให้เข้าถึง Startup ใหม่ๆ

สัดส่วน Start-up ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ในระดับน่ากังวลเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเกาหลีใต้ปี 2020 เกิด Startup ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในเกาหลีใต้มี 21% เทียบกับ Start-up ทั้งหมด ในขณะที่สหรัฐฯ มีถึง 54%

ท้ายที่สุดแล้ว ทางออกของเสือแห่งเอเชียอย่างเกาหลีใต้ คือ การออกนโยบายเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมใหม่ๆ หลังจากที่แต่เดิมผลักดันเพียงแค่อุตสาหกรรมที่ถนัดเดิมๆ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเครื่องกฎหมายที่ล้าสมัยที่จำกัดโอกาสที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

ที่มา – The Hankyoreh

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน