คนไทยว่างงานเกิน 1 ปีพุ่ง 16% ส่วนใหญ่เป็นเด็กจบใหม่-หางานไม่ได้ จบปริญญาเตะฝุ่นมากสุด

รู้หรือไม่ ประเทศไทยมี ‘คนว่างงานเกิน 1 ปี’ เพิ่มขึ้นถึง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จนทะลุจำนวน 81,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น คือ ส่วนใหญ่เป็น ‘เด็กจบใหม่’ ยังไม่เคยทำงานมาก่อน และสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเหล่านี้ว่างงานยาว คือ “หางานไม่ได้”

ขอบคุณภาพจาก Igor Omilaev / Unsplash

คนไทยมีงานทำยังทรงตัว เสมือนว่างงาน 1.6 ล้านคน

ข้อมูลข้างต้นมาจาก ‘รายงานภาวะสังคมไทย‘ ประจำไตรมาส 3 ปี 2567 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาพัฒน์ ที่ได้พูดถึงภาพรวมการจ้างงานไทยที่ค่อนข้างทรงตัวในไตรมาสที่ผ่านมา จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ยังขยายตัว ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง

โดยไทยมี ‘ผู้มีงานทำ’ รวม 40 ล้านคน ลดลง 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่นอกภาคเกษตรกรรม 27.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4% และอยู่ในภาคเกษตรกรรม 12.2 ล้านคน ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ใน 40 ล้านคนมีคนที่ทำงานน้อยจน ‘เสมือนว่างงาน’ อยู่ 1.6 ล้านคน และ ‘ทำงานระดับต่ำ’ อยู่ 1.9 แสนคน

‘ขนส่ง-บริการ’ จ้างงานเพิ่มขึ้น

สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ ขนส่งและเก็บสินค้า (14%) โรงแรมและภัตตาคาร (6.1%) และก่อสร้าง (0.7%) ขณะที่ ‘ภาคการผลิต’ และ ‘ค้าปลีก’ มีการจ้างงานน้อยลง

ส่วน ค่าจ้างแรงงาน ปรับเพิ่มขึ้นในภาพรวมและภาคเอกชน

  • แรงงานในระบบ 15,718 บาท/คน/เดือน
  • แรงงานทั้งหมด (รวมแรงงานอิสระ) 16,007 บาท/คน/เดือน
  • เอกชน 14,522 บาท/คน/เดือน

ว่างงานเพิ่ม 3.2% จบปริญญาเตะฝุ่นมากสุด

ข้อมูลของสภาพัฒน์ยังบอกอีกว่า ประเทศไทยมีผู้ว่างงาน 410,000 คน เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อน แล้ว ‘สภาพัฒน์’ ยังคนว่างงานตามระดับการศึกษาด้วย

1. มหาวิทยาลัย 150,600 คน
2. มัธยมต้น 67,200 คน
3. มัธยมปลาย 65,000 คน
4. ประถมและต่ำกว่า 59,200 คน
5. วิชาชีพขั้นสูง 51,400 คน
6. อาชีวศึกษา 20,500 คน

โดยจะเห็นว่า คนในระดับการศึกษาที่ว่างงานสูงที่สุด คือ ระดับมหาวิทยาลัย ที่มีจำนวนทะลุแสนคน ขณะที่ระดับการศึกษาที่มีผู้ว่างงานน้อยที่สุด คือ ระดับอาชีวศึกษา ที่มีจำนวนแค่ 2 หมื่นคนเท่านั้น

ว่างงานเกิน 1 ปีพุ่ง 16% ส่วนใหญ่จบใหม่ หางานไม่ได้

นอกจากนั้น พอเจาะลึกลงไปจะเห็นว่า คนไทยที่ว่างงานเกิน 1 ปี มีจำนวนมากกว่า 81,000 คนเรียบร้อยแล้ว โดยเพิ่มขึ้น 16.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

คนไทยว่างงานเกิน 1 ปีมากถึง 71.3% เป็น คนที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘เด็กจบใหม่’ ที่ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-29 ปี และมากถึง 65% มีเหตุผลมาจาก ‘หางานไม่ได้’

สภาพัฒน์บอกว่า 3 ประเด็นที่สำคัญกับ ‘แรงงานไทย’ ได้แก่

  1. ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมเดิมปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิ ยอดขายรถสันดาปลดลง เพราะเทรนด์ EV นำมาสู่ปลดคนงาน งดโอที ให้สมัครใจลาออก
  2. เตรียมความพร้อมแรงงานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ BOI ระบุอาจต้องการแรงงานมากถึง 1.7 แสนคน แต่ไทยยังมีจุดอ่อนต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติ
  3. น้ำท่วมกระทบราคาสินค้าเกษตร ซ้ำเติมค่าใช้จ่ายประชาชน

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่จะต้องปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเปลี่ยนผ่านตลาดแรงงานให้พร้อมรับกับอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมาของรถยนต์ไฟฟ้า การมาของ AI หรือการถดถอยทางเศรษฐกิจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา