ธุรกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคไร้ทายาทสืบทอด สานต่อ: ถึงคราวภูมิปัญญาสูญหายตามกาลเวลา

ธุรกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคไร้ทายาทสืบทอด สานต่อ

ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ยุคไร้ทายาทสืบสานต่อ หลังจากที่ประเทศติดหล่มกับปัญหาคนสูงวัยล้นเมือง คนแต่งงานน้อย คนเกิดใหม่ไม่เพิ่มขึ้นแถมทยอยลดลงต่อเนื่อง จนในที่สุด ปัญหาสืบเนื่องจากจำนวนประชากรที่มีแต่จะลดลงต่อเนื่องก็ไหลมาสู่ประเด็นธุรกิจที่ไม่มีทายาทสืบทอดต่อ

Japan, restaurant
Photo by Danis Lou on Unsplash

Japan Today รายงานเรื่องธุรกิจของชาวญี่ปุ่น Kiyoshi Hashimoto ในวัย 82 ปี เปิดบริษัทมาแล้วเกือบ 40 ปี เมื่อถึงคราวที่เขาคิดจะวางมือ ก็พบว่า สิ่งที่เขาก่อร่างสร้างมานั้นกำลังสูญเปล่า เนื่องจากไม่มีคนสืบทอดต่อ ซ้ำยังไม่มีคนคิดจะซื้อกิจการเพื่อไปบริหารต่อด้วย เมื่อหมดยุคของเขา ธุรกิจก็จะอันตรธานไปพร้อมๆ กับลูกค้าที่ยังคงให้การสนับสนุนเขาเสมอมา

นี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้สิงคโปร์ก็เคยเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน แม้ว่าจะมีทายาทแต่ลูกก็ไม่ได้อยากสานต่อกิจการ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ลูปปัญหานี้ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่เจ้าของกิจการเท่านั้นที่จะมองเห็นปัญหา รัฐบาลญี่ปุ่นนี้ก็เห็นแง่มุมของปัญหานี้เช่นกัน และเคยกล่าวเตือนไว้แล้วว่า ธุรกิจทั้งหลายที่ดำเนินกิจการอยู่จะเริ่มประสบปัญหาไร้ทายาทสืบสานในรุ่นสาม หรือรุ่นหลานของตระกูลได้ ซึ่งระยะเวลาที่คาดการณ์ไว้ไม่ได้ยาวนานเลย แต่น่าจะเริ่มสร้างผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2025

Shigenobu Abe จากบริษัท Teikoku Databank ซึ่งทำวิจัยและรายงานเกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัท กล่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ยุคการปิดกิจการครั้งใหญ่ ทั้งนี้ ปี 2019 ที่ผ่านมา มีรายงานที่ประเมินว่า เจ้าของบริษัทขนาดเล็กหลายรายราว 1.27 ล้านคนจะมีอายุราว 70 ปีขึ้นไปในช่วงปี 2025 จะเป็นห้วงเวลาที่ไร้ทายาท มีแนวโน้มที่จะทำให้ตำแหน่งงานหายไปถึง 6.5 ล้านตำแหน่งและทำให้ลดขนาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สูงถึง 22 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 5.27 ล้านล้านบาท

นอกจากอีก 2 ปีข้างหน้าสถานการณ์เรื่องธุรกิจขนาดเล็กในญี่ปุ่นจะแย่ลงเรื่อยๆ อีก 2 ปีถัดไปหรือราวปี 2029 สถานการณ์จะเลวร้ายกว่าเดิม เนื่องจากคนวัยเบบี้บูมจะอายุ 81 ปี ซึ่งเป็นอายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นประธานของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าคนทำงานจำนวนมากจะต้องสูญเสียอาชีพเพราะปัจจัยนี้

กล่าวคือ นอกจากบริษัทขนาดเล็กหลายแห่งในญี่ปุ่นจะไม่มีทายาทสืบสานต่อ คนรุ่นใหม่ไม่สนใจงานจากบริษัทของต้นตระกูลตัวเองแล้ว ยังมีความสนใจที่จะใช้ชีวิตในเมืองหลวงมากกว่าจะอยู่ในชนบท ปัญหาที่มาจากความรู้สึกของคนสูงวัยที่เป็นเจ้าของกิจการเหล่านี้ก็คือ ปัญหาที่ว่า การขายบริษัทของครอบครัวให้กับคนนอก คือเรื่องน่าอาย ทำให้นอกจากไม่มีคนสานต่อ ก็ยังไม่คิดที่จะขายบริษัทต่อให้บุคคลภายนอกเพราะความอับอายด้วย ทำให้ในที่สุดบริษัทเหล่านี้จะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา

เรื่องนี้ บริษัทญี่ปุ่นพยายามหาทางออกด้วยการหาทางเพิ่มมาตรการกระตุ้นเพื่อให้บริษัทต่างๆ อยากขายกิจการ ไปจนถึง การเอื้อให้ภาคเอกชนหาทางจับคู่กันเองกับเหล่านักลงทุนเพื่อให้เกิดการขายธุรกิจได้ ตัวอย่าง บริษัท Batonz ก็เปิดโอกาสให้มีการจับคู่ระหว่างเอกชนด้วยกัน ปัจจุบันจับคู่ไปแล้วกว่า 1,000 แห่งต่อปี จากที่เริ่มต้นจับคู่ได้เพียง 80 แห่งเท่านั้นในปีที่เริ่มเปิดดำเนินการช่วงปี 2018 บริษัทแห่งนี้ช่วยทำให้กิจการที่ไม่มีคนสืบทอด หาคนซื้อกิจการต่อได้ โดยที่ยังรักษาทั้งตัวเนื้องานและตำแหน่งพนักงานที่อยู่ภายใต้บริษัทนั้น

การล่มสลายของบริษัทที่ไม่มีทายาทสืบทอดต่อ หมายถึงอะไร?

การไร้ทายาทสืบสานต่อกิจการไม่เพียงเป็นการทำให้สิ่งที่สั่งสมยาวนานหลายสิบปีสูญหายไปตามกาลเวลา แต่มันยังหมายความว่า ประเทศได้สูญเสียความเชี่ยวชาญ ความชำนาญจากช่างทางเทคนิค จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ให้ต้องล้มหายตายจากไปด้วย

ถ้าพูดถึงร้านอาหารที่ไม่มีคนสืบสานต่อ นั่นหมายรวมถึงสูตรอาหารหลายร้อยปีที่ส่งต่อกันมาย่อมหายไป ทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอวสานไปตามกาลเวลาด้วย หมายความว่า ความรู้เดิมๆ ก็สูญหาย ความรู้ใหม่ก็ไม่มีคนส่งต่อ ความรู้เฉพาะทางเหล่านั้นก็จะหายไปพร้อมกับยุคสมัย

ที่มา – Japan Today, Batonz, TDB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา