Nissan Leaf กับการขับขึ้น-ลงดอยอินทนนท์แบบแบตเตอรี่เหลือๆ และกรุงเทพ-เชียงใหม่ที่ไม่ง่าย

เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ผม และผู้สื่อข่าวหลายคนมีโอกาสทดสอบเจ้า Nissan Leaf แถมเป็นการขับขี่เพื่อขึ้นดอยอินทนนท์เสียด้วย แล้วอย่างนี้รถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่มียอดขายสะสมมากที่สุดในโลกรุ่นนี้จะไหวแค่ไหนล่ะ

Nissan Leaf

จุดเริ่มต้นของเส้นทาง

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า Nissan Leaf คือรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ที่มียอดขายสะสมมากที่สุดในโลก หรือตั้งแต่เปิดตัวโฉมแรกปี 2553 และโฉมที่สองปี 2560 ก็มียอดขายมากกว่ากว่า 4 แสนคันแล้ว อาจเพราะราคาที่ไม่ได้แพงมาก (ในต่างประเทศ) กับประสิทธิภาพที่เทียบชั้นรถยนต์เครื่องแรงๆ ได้สบาย

และเมื่อปี 2561 ทาง Nissan ประเทศไทยก็นำเข้า Nissan Leaf จากประเทศญี่ปุ่นมาจำหน่ายในประเทศไทย กับราคาค่าตัว 1.99 ล้านบาท อาจแพงไปสักนิดเมื่อเทียบกับรถยนต์ขนาดเดียวกัน แต่ถ้าเทียบกับสมรรถนะที่ได้มา ส่วนตัวเชื่อว่า Nissan Leaf ก็ไม่ได้แพงจนเกินไปนัก

Nissan Leaf

เพราะประสิทธิภาพของ Nissan Leaf นั้นมีตั้งแต่มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า พร้อมแรงบิด 320 นิวตันเมตรตั้งแต่เหยียบคันเร่ง ส่วนเรื่องแบตเตอรี่ก็มีความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง ตามสเปกระบุว่าวิ่งได้ไกลสุด 311 กม. หลังจากชาร์จเต็ม

ทดสอบขึ้นเขาแบบจริงจัง

ก่อนหน้านี้ Nissan เคยให้ผู้สื่อข่าวได้ขับทดสอบการวิ่งทั่วกรุงเทพในวันธรรมดารถติดๆ กันไปแล้ว ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาว่า ถึงวิ่งทั่วกรุง แบตเตอรี่ก็ไม่หมดแน่นอน แต่ด้วยการแข่งขันของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในไทยที่สูง ทำให้ Nissan ต้องหาอะไรใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์ว่า Nissan Leaf นั้นดีจริง ซึ่งสุดท้ายมันก็ออกมาที่การขับขึ้นเขา

Nissan Leaf

ทั้งนี้แค่ขึ้นเขาเฉยๆ ก็คงธรรมดาไป ดังนั้น Nissan จึงให้สื่อหลายเจ้าไปขับทดสอบ Nissan Leaf ถึงดอยอินทนนท์ หรือจุดสูงสุดของประเทศไทย โดยระยะทางรวมจากจุดเริ่มต้นในตัวเมืองเชียงใหม่ถึงยอดดอย และกลับมาที่จุดเริ่มเริ่มต้นก็ประมาณ 200 กม. เรียกว่าไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไปนัก แต่จะหนักตรงการขึ้นเขาที่ต้องใช้พลังงานสูง

ตัวผมมีโอกาสขับก่อน โดยมีน้องอีกคนนั่งไปด้วยกันเพื่อขับในขากลับ กับตัวรถที่ชาร์จแบตมาเต็ม 100% เส้นทางช่วงแรกจะเป็นถนนไฮเวย์ ทำความเร็วได้เต็มที่ ตัว Nissan Leaf ก็ตอบสนองเท้าได้ดีเลยทีเดียว เพราะมีแรงบิดมหาศาลตั้งแต่เหยียบคันเร่ง แถมพวงมาลัยค่อนข้างแม่นยำ ทำให้ขับสนุกในทางราบเอามากๆ

Nissan Leaf

หวั่นใจเล็กน้อยเมื่อถึงยอดดอย

พอมาถึงตีนดอย ความสนุกจริงๆ ก็เริ่มขึ้น เพราะอย่างที่รู้กันว่าการขับขึ้นเขาต้องใช้เกียร์ต่ำ เพื่อให้รถมีแรงตลอดเวลาในการไต่เขา รวมกับทางที่คดเขี้ยวจนบางคนเมารถก็มี ซึ่งช่วงแรกในการขับขึ้นเขาก็รู้สึกได้เลยว่า Nissan Leaf มีการออกแรงใกล้เคียงกับการทำความเร็วบนทางเรียบ

ส่วนการเร่งแซงบนทางขึ้นเขาก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อทางโล่ง และเบี่ยงไปอีกเลนหนึ่งพร้อมกดคันเร่ง การตอบสนองของ Nissan Leaf ก็ดีอย่างที่กล่าวไปข้างต้น เรียกว่าไม่มีปัญหาในการเร่งแซงเมื่ออยู่บนทางลาดชัน ในทางกลับกันเมื่อทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงยอดเขา ผมก็หวั่นใจเล็กน้อยเมื่อดูจำนวนแบตเตอรี่ที่เหลือบนหน้าปัด

Nissan Leaf

27% คือตัวเลขที่แสดงอยู่บนนั้น เท่ากับว่าผมขับขึ้นดอยอินทนนท์ระยะทางราว 100 กม. แต่ใช้แบตเตอรี่ได้ทั้งหมด 73% แล้วอย่างนี้ขากลับตัวแบตเตอรี่จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ Nissan ก็เดินมาข้างๆ พร้อมบอกว่าพอแน่นอนไม่ต้องกลัว เพราะเรามี B Mode

B Mode กับการช่วยให้ถึงที่หมาย

หลังยืดเส้นยืดสายเกือบ 20 นาที ในที่สุดผม และน้องอีกคนก็เตรียมขับลงจากยอดดอยอินทนนท์ โดยคราวนี้ผมเป็นคนนั่ง และลุ้นใช้ได้ว่า B Mode มันจะช่วยจริงๆ เหรอ แต่พอปรับเกียร์เข้าสู่ B Mode และขับลงดอยอินทนนท์ก็พบว่ามันช่วยได้จริง

Nissan Leaf

เนื่องจากขับลงไปไม่นานตัวเปอร์เซนต์แบตเตอรี่ที่แสดงอยู่บนหน้าปัดกลับเพิ่มขึ้นมา เหตุที่มันเป็นอย่างนี้มาจาก B Mode หรือโหมดที่ช่วยฟื้นฟูพลังงานมากกว่าเดิมในขณะที่ลดความเร็ว อธิบายง่ายๆ ก็คือเวลาเราเบรก มอเตอร์ไฟฟ้าก็จะนำพลังงานที่สูญเสียจากการเบรกกลับมาที่แบตเตอรี่อยู่แล้ว แต่ B Mode จะดึงกลับมามากกว่าเดิม

สุดท้ายแล้วพอลงมาถึงตีนดอยปรากฎว่าตัวเลขแบตเตอรี่กลับขึ้นมาเป็น 43% เรียกว่าผม และน้องใจชื้นขึ้นมาประมาณหนึ่ง เพราะถ้าเหลือแบตเตอรี่ขนาดนี้ก็ขับกลับโรงแรมที่เป็นจุดเริ่มต้นได้สบายๆ โดยสุดท้ายผม และน้องก็ถึงที่หมายด้วยความจุแบตเตอรี่ที่เหลือ 12% กับระยะทางขับขี่ทั้งหมด 200 กม. นิดๆ

Nissan Leaf

e-Pedal ที่ยาก และกรุงเทพ-เชียงใหม่ไม่ง่าย

จริงๆ แล้วผม และน้องที่ไปด้วยกันมีโอกาสลองแทบจะทุกอย่างที่ Nissan Leaf ทำได้ แต่มีแค่อย่างเดียวที่ลองแบบไม่สุด นั่นคือ e-Padal หรือแป้นอัจฉริยะที่รวมเอาคันเร่ง และเบรกไว้ในที่เดียว โดยเวลาเหยียบคันเร่งก็จะเป็นการเร่งเครื่องปกติ แต่เวลาผ่อนคันเร่งรถจะค่อยๆ เบรกตามการผ่อนคันเร่งของผู้ขับ

ช่วงขับขี่ทางราบผมก็มีโอกาสลอง e-Padal ซึ่งผลสรุปคือไม่ค่อยชอบ อาจเพราะไม่ถนัด หรือเวลาในการหัดอาจน้อยไปนิด ยิ่งตอนขึ้นเขายิ่งชัดเจนว่าไม่ถนัดเท่าไร เหยียบคันเร่งกับเบรกดูจะชัวร์กว่า พอไปถามน้องตอนขับขาลงเขาก็ได้คำตอบคล้ายๆ กัน

Nissan Leaf

นอกจากนี้ระหว่างที่ผมนั่ง Nissan Leaf ลงจากดอยอินทนนท์ ก็พลางคิดว่า ถ้าจะขับ Nissan Leaf จากกรุงเทพมาเชียงใหม่ก็คงยากใช้ได้ เพราะด้วยระยะทางราว 700 กม. คงต้องวางแผนดีๆ ว่าจะจอดพักตรงไหนเพื่อชาร์จ เพราะระหว่างทางใช่ว่าจะใช้ B Mode เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ได้แบบยาวๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา