วิเคราะห์กลยุทธ์การวางราคาเกมของ Nintendo กับโอกาสการทำตลาดในประเทศไทย

การเปิดตัวเครื่องเกม Console รุ่นใหม่ของ Nintendo ในชื่อ Nintendo Switch ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับ Gamer ทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะการใช้คอนเซ็ปรวมเอาเครื่อง Hand Held กับ Console ไว้ด้วยกัน รวมถึงการแยก Joystick ออกมาเพื่อเล่นพร้อมกันหลายๆ คนได้ จนหลายคนเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะถึงเดือนมี.ค. ปีหน้า เพื่อซื้อเครื่องรุ่นดังกล่าว

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น Brand Inside ได้รวบรวมเนื้อหาดีๆ เกี่ยวกับการทำตลาดของ Nintendo ว่ากลยุทธ์การวางราคาเกมของเครื่องเกม Console แต่ละรุ่นว่าใช้อะไรเป็นมาตรฐาน และทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น

Mario หนึ่งใครตัวละครในเกม Super Mario Bros. ที่ช่วยสร้างชื่อให้กับ Nintendo ในระดับโลก
Mario หนึ่งใครตัวละครในเกม Super Mario Bros. ที่ช่วยสร้างชื่อให้กับ Nintendo ในระดับโลก // ภาพจาก pixabay.com

เมื่อเด็กคือผู้เล่นหลัก ก็ต้องเอาเป็นมาตรฐาน

เว็บไซต์ qz.com รายงานว่า รูปแบบการวางราคาเกมของ Nintendo จะอ้างอิงจากเงินค่าขนมของเด็กญี่ปุ่น เช่นช่วงปี 2537 Nintendo ได้วางจำหน่ายเครื่องเกม Console รุ่นที่สองในชื่อ Super Nintendo (ถ้าจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นจะใช้ชื่อ Super Famicom) โดยตั้งราคาที่ 220 ดอลลาส์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเครื่องเกม Console รุ่นแรก Nintendo Entertainment System (NES หรือ Famicom ที่ขายในญี่ปุ่น) ที่ช่วงเปิดตัวเมื่อปี 2529 ราคา 149 ดอลลาส์ แต่กลับพยายามคงราคาเกมไว้เท่าเดิม

“เรากำหนดราคาเริ่มต้นของเกมเกมต่างๆ อิงกับค่าขนมของเด็กญี่ปุ่น ทำให้เวลาเราพัฒนาเกม และสื่อสารการตลาดออกไป ทุกอย่างต้องอยู่บนบรรทัดฐานนี้” มาซายูกิ อูเอมาระ โฆษกของ Nintendo เมื่อปี 2537 กล่าว

ทั้งนี้ราคาเกมของเครื่องเกม Console รุ่น Super Nintendo ในวันที่เปิดตัวอยู่ประมาณ 50 ดอลลาส์ และหากมองว่าราคา 50 ดอลลาส์เทียบเท่ากับค่าขนมของเด็กญี่ปุ่นที่ได้ต่อเดือน หรือมากกว่านั้น ก็คงไม่แปลกที่เด็กไทยจะเล่นเกมเถื่อน เพราะถ้าเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปี 2537 อัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาท กับดอลลาส์สหรัฐอยู่ราว 25 บาท หากคูณเป็นราคาเกมตรงๆ ก็อยู่ที่ 1,250 บาท ส่วนเครื่องก็อยู่ที่ 5,500 บาท โดยส่วนตัวผู้เขียน ในขณะนั้นได้ค่าขนมเพียงวันละ 20 บาท ถ้าคูณทั้งเดือนก็อยู่แค่ 600 บาทเท่านั้น

แผ่นผี กับเหตุผลที่ผู้ผลิตไม่ทำตลาดเกมในไทย

เมื่อค่าขนมของเด็กไทย น้อยกว่าเด็กญี่ปุ่น ทำให้เกิดการซื้อเครื่องแท้ มาแปลงเครื่องเพื่อเล่นเกมเถื่อนที่ราคาไม่ถึง 100 บาท/เกม และเป็นอย่างนั้นเรื่อยมาตั้งแต่เครื่อง NES, Super Nintendo, Playstation, Xbox รวมถึงเครื่องกลุ่ม Hand Held ที่รู้จักกันดีอย่างตระกูล Gameboy ทำให้ผู้ผลิตทุกรายตัดสินใจไม่เข้ามาทำตลาดเครื่องเกมในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพราะถึงเข้ามา ตัวเครื่อง และราคาเกมก็สูงเกิน จนไม่จูงใจให้เด็กๆ หรือ Gamer ลงทุนซื้ออุปกรณ์เพื่อความบันเทิงชิ้นนี้ และถึงเข้ามาก็ขายได้แค่เครื่องเกม ซึ่งเป็นการซื้อเพียงครั้งเดียว

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงเครื่อง Playstaion 3 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2549 ก็เริ่มทำให้ภาพลักษณ์เกี่ยวกับการเล่นเกมเถื่อนในประเทศไทยลดลงไปบ้าง เพราะด้วยราคาแผ่นแท้ที่เอื้อมถึงมากขึ้น ประกอบกับการเข้ามาทำตลาดเต็มรูปแบบของ โซนี่ ประเทศไทย นอกจากนี้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก็ราคาต่ำลงเช่นกัน ตัวอย่างที่ดีคือการนำเกมมาลดราคาของแพลตฟอร์ม Steam ทำให้ Gamer รุ่นใหม่เล่นแผ่นแท้ และหลายแพลตฟอร์มเริ่มกลับมามองประเทศไทย ผ่านการ Localized เรื่องภาษาภายในแพลตฟอร์ม

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

อนาคต Console ในไทยจะสดใส หรือมืดต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อดูผู้ผลิตเครื่องเกม Console ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยยังมีเพียง Playstaion เท่านั้น แม้กระแสการเล่นเกมแท้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ในอนาคต Nintendo และ Microsoft อาจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยบ้างก็ได้ เพราะปี 2557 ถ้าอ้างอิงจากตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA มูลค่าการจำหน่ายเครื่องเกม Console ในประเทศไทยคิดเป็นแค่หลักล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อกับมูลค่าการจำหน่าย และนำเข้าเกมในขณะนั้นที่ 7,094 ล้านบาท

ส่วนเครื่องเกมของ Nintendo รุ่นใหม่อย่าง Nintendo Switch ก็คงถูกหิ้วเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยหลังจากเปิดตัวในเดือนมี.ค. 2560 เช่นเดิม เพราะปัจจุบัน Nintendo ยังไม่แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ส่วนราคาจะออกมาสูงแค่ไหน หากไล่ราคาเปิดตัวตั้งแต่เครื่อง NES ที่ 199 ดอลลาส์, Super Nintendo ที่ 199 ดอลลาส์, Nintendo 64 ที่ 199 ดอลลาส์, Game Cube 199 ดอลลาส์, WII 250 ดอลลาส์ และ WII U 299 ดอลลาส์ โอกาสที่ราคาจะมากกว่านั้นก็มีสูง ส่วนราคาขายในไทย หากนำราคา WII U แบบพร้อมเกมจะอยู่ราว 13,000 บาท ดังนั้นราคาเครื่องหิ้วอาจอยู่ที่ 15,000 บาท

ภาพจาก Nintendo.com
ภาพจาก Nintendo.com

*หมายเหตุ // ราคาในย่อหน้าสุดท้ายอ้างอิงจากราคาขายในสหรัฐอเมริกาของ Nintendo ส่วนราคาในย่อหน้าที่ 3 อ้างอิงจากคลิปวีดีโอที่ มาซายูกิ อูเอมาระ โฆษกของ Nintendo ได้กล่าวไว้

สรุป

วงการเกมในประเทศไทย โดยเฉพาะเกมคอมพิวเตอร์อาจดูดีขึ้นมาบ้าง เพราะตอนนี้ทั้ง G2A และ Steam ก็สร้างแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทยเพื่อตอบโจทย์ Gamer แล้ว แต่ในฝั่งเกม Console คงต้องรออีกระยะหนึ่ง แต่ผมคิดว่าคงอีกไม่นานที่คนไทยจะกล้าใช้ของจริง ซื้อของจริง เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตเกม และเกิดการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยซะที

อ้างอิง

Why Nintendo games have always cost about $50

36 Years Of Console Prices, Adjusted For Inflation

อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและเกม ในยคุเศรษฐกิจดิจิทัล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา