แม้ตลาดขนส่งในประเทศไทยจะแข่งขันกันสูง ผ่านผู้เล่นในตลาดเกือบ 10 ราย แต่ด้วยภาพรวม E-Commerce ที่ยังเติบโตอยู่ ทำให้ยังมีโอกาสของรายใหม่เข้ามาตลอด และหนึ่งในนั้นคือ Ninja Van ผู้เป็น Top 2 ที่สิงคโปร์
เข้าไทยมาปีครึ่ง แถมเติบโต 3-4 เท่าตัว
Ninja Van บริษัท Top 2 ด้านการขนส่งแบบ End-to-End จากประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นหน้าใหม่ในประเทศไทย เพราะเพิ่งเข้ามาทำตลาดได้เพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น โดยเหตุผลที่บริษัทเข้ามาก็เพราะเห็นโอกาสในธุรกิจขนส่งอยู่ แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นทั้งไทย และต่างประเทศจำนวนมากครองตลาดอยู่แล้ว
วีรชัย ชูสกุลพร หัวหน้าผู้บริหาร บริษัท นินจา โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ Ninja Van เล่าให้ฟังว่า การเข้ามาทำตลาดที่นี่เป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งที่ทำได้ในสิงคโปร์ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2557 แล้วสามารถชนกับยักษ์ใหญ่ที่นั่นได้ ทำให้บริษัทแม่ตัดสินใจขยายธุรกิจออกมาอีก 5 ประเทศ ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น
“นอกจากไทย Ninja Van ก็ขยายไปอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยชูเรื่องการขนส่งที่ไร้ความยุ่งยาก พร้อมกับเน้นเจาะตลาด E-Commerce เป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังเติบโตอยู่ และถึงคู่แข่งจะมาก แต่จริงๆ แล้ว Supply ก็ไม่เพียงพอต่อ Demand อยู่ดี”
ขยายให้ครอบคลุม 55 จังหวัดภายในปีนี้
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Ninja Van ยังครอบคลุมการขนส่งแค่ 33 จังหวัดเท่านั้น ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ปีนี้จะลงทุนเรื่องคน และระบบบริหารจัดการภายใน เพื่อขยายให้ครอบคลุม 55 จังหวัดให้ได้ และกลายเป็นบริษัทขนส่งแบบ End-to-End ตามที่บริษัทคาดหวังได้เร็วที่สุด
“เมื่อเราวางตัวเป็น End-to-End เรื่องคน, รถยนต์คนส่ง และคลังสินค้าก็ต้องเป็นเราที่เข้าไปลงทุน โดยตอนนี้ก็มีคนขับกว่า 400 คน และเพิ่งสร้างคลังสินค้าขนาดกว่า 6,000 ตร.ม. น่าจะเพียงพอในการทำตลาดอีก 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนเรื่องการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์เพิ่มเติมเช่นกัน”
สำหรับการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น Ninja Van เตรียมลงทุนเปิดจุดบริการรับส่งสินค้าตามพื้นที่ที่น่าสนใจ นอกจากการทำ Online Marketing ร่วมกับพาร์ทเนอร์ E-Commerce ขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่บริษัทคงต้องเพิ่มคนอีก 2 เท่าตัว และการลงทุนอีก 3 เท่าตัวถึงจะทำเช่นนั้นได้
เป้าระยะยาวคือเป็นเบอร์ต้นๆ ของผู้ใช้
ส่วนปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโต 3 เท่าตัวในแง่จำนวนการขนส่งเช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ ผ่านการทำตลาด 2 รูปแบบคือ Ninja Easy ที่จะเจาะกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปที่มีจำนวนส่งไม่มาก ใช้บริการได้ผ่านแอปพลิเคชั่น ราคาเริ่มต้น 35 บาท กับ Ninja Premium ที่เจาะตลาดร้านออนไลน์ที่ส่งสินค้าทีละมากๆ โดยสามารถกำหนดเวลารับส่งสินค้าได้เอง
ซึ่งลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Ninja Premium กับบริษัทอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่นั้นมีถึง 200 รายแล้ว ซึ่งปีนี้จะทำตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญคือบริษัทจะไม่เน้นแข่งขันด้วยราคา แต่ชูเรื่องความเร็ว และความง่ายในการใช้บริการมากกว่า เพราะถ้าแข่งด้วยราคาก็จะทำให้ตลาดเสียโดยอัตโนมัติ
“เราเน้นเซอร์วิส และความง่าย เช่นบริการรับเก็บเงินปลายทางที่ตอบโจทย์คนที่อยากซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ไม่มีบัตรเครดิต หรืออยากเห็นสินค้าก่อน นอกจากนี้อีกเป้าระยะยาวของเราคือ อาจช่วยพ่อค้าแม่ค้าทำตลาดแบบ Cross Border เพราะเรามีเครือข่ายครอบคลุม 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตัวเลือกต้นๆ ในการใช้งาน”
สรุป
ถึงปัจจุบันไปรษณีย์ไทย และ Kerry เหมือนจะครองตลาดขนส่งในฝั่งอีคอมเมิร์ซเอาไว้ แต่เอาเข้าจริงๆ แค่ 2 ราย รวมถึงรายย่อยอื่นๆ มันก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด จึงเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะมีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดอีก ส่วนในกรณีของ Ninja Van คงต้องดูกันยาวๆ ว่าจะแข่งขันกับผู้เล่นอื่นๆ อย่างไรอีก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา