Nikkei จัดอันดับไทย ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้แย่ที่สุดในบรรดา 120 ประเทศทั่วโลก

Nikkei จัดอันดับไทย ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้แย่ที่สุดในโลก เพราะ โควิด-19 ระลอกล่าสุดยังยืดเยื้อรุนแรงทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม ในขณะที่การแจกจ่ายวัคซีนไม่ดีพอ

nikkei thai covid recovery โควิด

ไทยรั้งท้ายฟื้นตัวจาก โควิด-19

Nikkei จัดอันดับให้ไทยอยู่รั้งท้าย (อันดับ 120) ในดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 (Nikkei COVID-19 Recovery Index) ร่วงลงมาจากอันดับที่ 118 จากการจัดอันดับในเดือนก่อนหน้า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกเดือนเมษายนในประเทศไทยยังคงยืดเยื้อและรุนแรง

วันนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 21,379 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 700,000 คน และมีผู้เสียชีวิตในวันเดียวถึง 191 คนสวนทางกับปริมาณการฉีดวัคซีนที่ตอนนี้มีประชากรเพียง 5.72% เท่านั้นที่วัคซีนครบ 2 โดส ส่วน 20.36% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส

ก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลก็มีการประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมออกไปอีก 14 วัน และขยายพื้นที่บังคับใช้มาตรการจาก 13 จังหวัด ไปเป็น 29 จังหวัด

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังพุ่งสูงทำสถิติใหม่ทุกวัน การกระจายวัคซีนที่ล่าช้า และมาตรการควบคุมที่เข้มงวด จึงทำให้ประเทศไทยยังเผชิญอุปสรรคในการฟื้นตัวจากโควิด นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับสุดท้ายของการจัดอันดับการฟื้นตัวโดย Nikkei

Nikkei COVID-19 Recovery Index คืออะไร

ดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 ของ Nikkei เป็นการจัดอันดับ 120 ประเทศ ในทุกๆ เดือนบนปัจจัยพื้นฐาน 3 อย่าง ที่มีผลต่อการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดการการแพร่ระบาด การกระจายวัคซีน และความคล่องตัวในการเดินทาง สรุปออกมาเป็นคะแนนระหว่าง 0-90

โดยใน 3 ปัจจัยพื้นฐาน ก็ยังมีการจำแนกลงไปอีกเป็น 9 ปัจจัยย่อย คือ

  • การจัดการการแพร่ระบาด ประเมินจาก (1) ยอดผู้ป่วยสะสมเทียบกับยอดผู้ป่วยในวันที่มีรายงานการติดเชื้อสูงสุด (2) ยอดผู้ป่วยสะสมต่อประชากร (3) ยอดการตรวจทั้งหมดต่อยอดผู้ป่วยสะสม
  • การกระจายวัคซีน ประเมินจาก (1) จำนวนวัคซีนที่แจกจ่ายทั้งหมดต่อประชากร (2) จำนวนวัคซีนที่แจกจ่ายใหม่ต่อประชากร (3) สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส
  • ความคล่องตัวในการเดินทาง ประเมินจาก (1) การเคลื่อนย้ายในชุมชน (2) Oxford Stringency Index หรือ ดัชนีความเข้มข้นของมาตรการควบคุมโรค (3) การเดินทางทางอากาศ

ประเทศในอันดับอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สหรัฐอเมริกา (อันดับ 46) ร่วงลงมาจากอันดับ 22 จากการจัดอันดับก่อนหน้านี้ เพราะหลังจากการฟื้นตัวจากโควิดในสหรัฐเริ่มอยู่ในทิศทางบวกได้สักพัก สถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดย่ำแย่ลงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาอยู่ที่กว่า 1 แสนคน เพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วงไม่ถึง 1 เดือน และยังเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน

USA New York City COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

มาเลเซีย (อันดับ 114) อินโดนีเซีย (อันดับ 114) และเวียดนาม (อันดับ 120) อยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของการจัดอันดับล่าสุดร่วมกับประเทศไทย เพราะแต่ละประเทศยังมีการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มข้น เช่นในเวียดนามประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางใน 19 จังหวัด เพิ่มเติมไปอีก 2 สัปดาห์ไม่ต่างจากไทย ส่วนอินโดนีเซียก็มีการทำกึ่งล็อกดาวน์ในเมืองที่ประชากรหนาแน่น 

ที่มา – Nikkei Asia (1)(2), Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน