ไนกี้ และ อาดิดาส ครองรางวัลบัลลงดอร์! ผู้เข้าชิง 25 จาก 30 คน เป็นนักเตะที่สองแบรนด์สปอนเซอร์

ไนกี้ และ อาดิดาส ยังครองพื้นที่สื่อในการประกาศรางวัลลูกบอลทองคำ หรือ บัลลงดอร์ เหตุผู้เข้าชิง 25 จาก 30 คน มีสองแบรนด์นี้เป็นสปอนเซอร์ สะท้อนถึงการแซงหน้าของ ไนกี้ ที่แม้มาช้าในโลกฟุตบอลแต่ทิ้งห่างผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาฟุตบอลกลุ่มเดิมไปไกล ทั้งเป็นการยากที่ผู้ผลิตรายอื่นจะตามสองแบรนด์ผู้นำนี้ได้ทัน

ไนกี้ อาดิดาส

ไนกี้ และ อาดิดาส ครองพื้นที่บัลลงดอร์

รางวัลลูกบอลทองคำ หรือ บัลลงดอร์ เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ในโลกกีฬาฟุตบอล และประกาศผลวันที่ 29 ต.ค. 2024  โดยครั้งนี้มีนักฟุตบอลชายเข้าชิงรางวัล 30 คน เช่นเดิม เพียงแต่ไม่มีผู้เล่นที่ได้ดีลใหญ่ที่สุดจากผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาที่ประกอบด้วย ลีโอเนล เมสซี่ (อาดิดาส), คริสเตียโน โรนัลโด (ไนกี้) และเนย์มาร์ (พูม่า)

ทีมงาน Brand Inside ได้สำรวจพบว่า นักฟุตบอลชายที่เข้าชิงรางวัลนี้ทั้ง 30 คน ได้รับการสนับสนุน หรือสปอนเซอร์โดยไนกี้ และอาดิดาส ถึง 25 คน หรือคิดเป็น 83% ของผู้เข้าชิงรางวัลทั้งหมด แสดงให้เห็นที่การครองพื้นที่สื่อของผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทั้งสองแบรนด์ในโลกฟุตบอลอย่างชัดเจน

หากเจาะไปที่จำนวน 25 คน จะพบว่า เป็นนักเตะที่ได้สปอนเซอร์จากไนกี้ 15 คน เช่น คีเลียน เอ็มบัปเป้, วินิซิอุส จูเนียร์ และ โรดรี้ เป็นต้น ที่เหลืออีก 10 คน ได้รับการสปอนเซอร์จากอาดิดาส เช่น ลามีน ยามาล, จู๊ด เบลลิงแฮม และ ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ เป็นต้น

ส่วนอีก 5 คนที่ติดรายชื่อชิงรางวัลจะประกอบด้วย แฮรี่ เคน (สเก็ตเชอร์ส), บูกาโย ซากา (นิวบาลานซ์), อันโตนิโอ รูดิเกอร์ (อันเดอร์ อาร์เมอร์) และ ดานี คาบาฆาล กับ กรานิต ชากา ที่ต่างได้รับการสนับสนุนจากพูม่า และในบริษัทรับพนันถูกกฎหมายได้ให้ วินิซิอุส จูเนียร์ เป็นเต็งหนึ่ง ตามด้วย โรดรี้ และ จู๊ด เบลลิงแฮม

ย้อนอดีตการบุกตลาดฟุตบอลของไนกี้

ไนกี้ ก่อตั้งเมื่อปี 1964 เลยเคยพยายามทำตลาดรองเท้าฟุตบอลเมื่อปี 1971 ล้อไปกับการแข่งขันฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก แต่กลับไม่ได้ถูกสนใจนัก จนกระทั่งปี 1982 ไนกี้เริ่มมีที่ยืนในกีฬาฟุตบอลอย่างชัดเจน ผ่านการสนับสนุนรองเท้าให้กับทีม แอสตัน วิลล่า จากอังกฤษ ซึ่งปีนั้นทางทีมได้เป็นทีมแชมป์สโมสรยุโรป หรือยูโรเปียนคัพ

เวลาเดียวกันนั้นภูมิภาคยุโรปที่กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมยังถูกครองโดยอาดิดาส และพูม่า จากเยอรมนี และตั้งแต่นั้นไนกี้เริ่มจริงจังกับตลาดฟุตบอลมากขึ้น ไล่ตั้งแต่การสนับสนุนรองเท้าให้กับทีมชาติบราซิลชุดแชมป์โลกปี 1994, การได้โรนัลโด (R9) ปี 1998 และปี 2002 ที่สนับสนุนชุดแข่งทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ที่เคยมีที่ยืนในตลาดรองเท้าฟุตบอลในอดีต เช่น ลอตโต้, เดียดอร่า, มิซูโน่ หรือ อัมโบร ต่างถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน สังเกตจากนักเตะที่ติดรางวัลบัลลงดอร์ล้วนสวมใส่แต่ไนกี้ และอาดิดาส และมีเพียงแบรนด์ที่เพิ่งจะมาลุยตลาดฟุตบอลอย่างนิวบาลานซ์ และสเก็ตเชอร์ ติดมาเล็กน้อย

Football

เจาะตลาดรองเท้าฟุตบอล 7 แสนล้านบาท

อ้างอิงข้อมูลบริษัทวิจัย Fact.MR พบว่า ภาพรวมตลาดรองเท้าฟุตบอลมีมูลค่าในระดับโลกปี 2022 ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7 แสนล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี มาตั้งแต่ปี 2018 รวมถึงนับตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2033 จะเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี มีมูลค่ากว่า 44,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.48 ล้านล้านบาท

การเติบโตของตลาดนี้มาจากความนิยมของกีฬาฟุตบอลในกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมถึงตลาดที่กำลังเติบโตอย่างเอเชียแปซิฟิก ยิ่งกีฬาฟุตบอลนั้นถูกเล่นโดยคนทั่วโลกกว่า 265 ล้านคน ทำให้รองเท้าฟุตบอลเป็นหนึ่งในโอกาสที่พลาดไม่ได้สำหรับกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา

ขณะเดียวกันด้วยความนิยมของฟุตบอลหญิงที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เข้ามาซื้อรองเท้าฟุตบอลเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรตลาดรองเท้าฟุตบอลยังต้องเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องวัสดุในการผลิต เช่น หนังสังเคราะห์ที่มีความทนทานกว่าหนังแท้ ทำให้การเปลี่ยนรองเท้าฟุตบอลแต่ละครั้งนั้นนานขึ้น ส่งผลกับอัตราการซื้อซ้ำโดยตรง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา