Supply ข้าวในญี่ปุ่นล้นตลาด เบอร์ 1 เรื่องนี้จาก “นีงาตะ” จึงหันมาส่งออก และไทยคืออีกเป้าหมาย

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวในหน้าหนาวแล้ว จังหวัด “นีงาตะ” ในญี่ปุ่นยังโดดเด่นเรื่องการเพาะปลูกข้าวด้วย ถือเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศก็ว่าได้ แต่เมื่อจำนวนผลิตนั้นมีมากกว่าประชากรที่ลดลงทุกวัน การหาตลาดใหม่ๆ จึงสำคัญ

ข้าวพันธุ์โคชิฮิคาริ จากจังหวัดนีงาตะ

กำลังผลิต 6.78 แสนตัน/ปี พร้อมเพิ่มดีกรีส่งออก

อย่างที่เคยเสนอข่าวไปเกี่ยวกับจำนวนการเกิดใหม่ของประชากรในญี่ปุ่นนั้นลดลงตลอด และตัวแปรนี้ก็ส่งผลต่อสินค้าเกษตรที่ปกติแล้วจะผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อจำนวนผู้บริโภคลดลง การผลิตก็คงลดลงตามไปไม่ได้ ดังนั้นการหาตลาดต่างประเทศเพื่อมารองรับสินค้า และคงโอกาสทางธุรกิจเอาไว้ จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นในทันที

เมกุโระ ชิฮายะ ผู้อำนวยการกรมเกษตรป่าไม้ และประมง ของจังหวัดนีงาตะ เล่าให้ฟังว่า “นีงาตะ” คือพื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เพราะคุณภาพของสารอาหารในดิน และน้ำนั้นแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ ประกอบกับการเพาะปลูกที่พิถีพิถันจนแต่ละปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราว 6.78 แสนตัน เท่านั้น

“ปกติแล้วผลผลิตข้าวพันธุ์ โคชิฮิคาริ ของจังหวัดนีงาตะ ที่ได้จะนำมาขายในประเทศกว่า 6 แสนตัน และที่เหลือจะส่งออกไปต่างประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์บริโภคในญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้งส่งออกมากขึ้น ประกอบกับทั่วโลกก็เริ่มนิยมอาหารญี่ปุ่น ซึ่งข้าวก็เป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้นการส่งออกจึงเป็นอีกโอกาสทางธุรกิจของจังหวัด”

ตัวบรรจุภัณฑ์ข้าวที่จะขายในประเทศไทย

ไทยคือตลาดสำคัญ แม้มีการปลูกข้าวญี่ปุ่นที่นี่

อย่างไรก็ตามข้าวญี่ปุ่นที่ผู้บริโภครับประทานในร้านอาหารญี่ปุ่น หรือซื้อมาหุงกินที่บ้าน ปัจจุบันไม่ได้นำเข้ามาจากญี่ปุ่น เพราะที่ประเทศไทยสามารถเพาะปลูกข้าวพันธุ์ Japonica (จาปอนิกา) ดังนั้นการเข้ามาทำตลาดของข้าวจากนีงาตะนั้นไม่ง่าย ผ่านต้นทุนการขายที่แพงกว่าข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในไทย 2-3 เท่าตัว

“ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้ามาทำตลาด เพราะราคาเราอยู่ที่ 400-500 บาทกับข้าวถุงขนาด 2 กก. และกลุ่มเป้าหมายก็ไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่คือคนไทย ทำให้ทางจังหวัดต้องสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยวิธีต่างๆ เช่นการจัดกิจกรรมทดลองสินค้า และร่วมกับช่องทางห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น”

เข้าช่องทาง HORECA เพิ่มโอกาสการขายยั่งยืน

ขณะเดียวกันทางจังหวัดมีแผนทำตลาดกับกลุ่ม HORECA หรือโรงแรม, ร้านอาหาร และบริการจัดเลี้ยงของประเทศไทย ผ่านการชูจุดแตกต่างเรื่องข้าวพันธุ์นีงาตะ เช่นการติดป้ายโฆษณาให้กับร้านที่ใช้ข้าวของทางจังหวัด เพื่อสร้างความแตกต่างกับร้านอื่นๆ ที่ใช้พันธุ์ Japonica รวมถึงสร้างความยั่งยืนในการจำหน่ายด้วย

สรุป

ก็เหมือนกับพันธุ์ข้าวของประเทศไทย ที่แต่ละพันธุ์ก็จะมีจุดเด่นเป็นของตนเอง ดังนั้นใครที่อยากลิ้มรสข้าวจากญี่ปุ่นจริงๆ ก็คงต้องยอมเสียเงิน 400-500 บาท แต่ในฝั่งผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น หากยอมจ่ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่สามารถขายได้แพงขึ้นหลายเท่าตัว การลงทุนใช้ข้าวนำเข้า เหมือนกับปลานำเข้าก็คงคุ้มไม่น้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา