หลายองค์กรธุรกิจต่างหวังว่าปีนี้คงเป็นปีที่แย่ที่สุดแล้ว และปีหน้าทุกอย่างน่าจะกลับมาดีขึ้น และมันก็คงเป็นอย่างนั้นได้ เพราะอัตราการเติบโตของ GDP ประเทศไทยปีนี้เติบโตเร็วที่สุดในรอบ 4 ปี แต่จริงๆ แล้วมันมีอีกหลายเหตุผล
GDP โต แต่ธุรกิจยุคใหม่จะมองแค่นี้ไม่ได้
ประเทศไทยทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจต่างยึดติดกับเรื่องตัวเลข GDP มานาน ซึ่งถ้ามองผิวเผินมันก็ชี้ให้เห็นว่าภาพรวมการจับจ่ายในประเทศเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในปี 2560 นั้นถือเป็นปีที่ตัวเลขดังกล่าวมีอัตราเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 4 ปี หรือน่าจะปิดที่ 3.5-4% ได้ โดยหลักๆ ก็มาจากตัวเลขการส่งออก และการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
แต่ปัจจุบันองค์กรธุรกิจไทยจะมองแค่ตัวเลข GDP ไม่ได้อีกต่อไป เพราะการที่ไทยยึดติดกับ GDP มากเกินไป ก็ทำให้เรื่องอื่นๆ ถูกละเลย โดยเฉพาะตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก เช่นในปี 2558 รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 26,915 บาท/เดือน แต่มีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 1.56 แสนบาท หรือ 6 เท่าของรายได้ครัวเรือนต่อเดือน
สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้กับดักรายได้ปานกลางก็เกิดขึ้น และจะหลุดจากเหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ ดังนั้นองค์กรธุรกิจเองก็ต้องมองมุมใหม่ โดยเฉพาะการทำตลาดที่ต้องเฉพาะเจาะจง รวมถึงผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก จะเอาแค่ตัวเลข GDP มาอ้างคงไม่ได้
คิดใหม่ให้ดี โดยเฉพาะการวางตำแหน่งสินค้า
และถ้าเจาะไปที่สินค้าอุปโภคบริโภค หรือ FMCG ในประเทศไทย จะพบว่าครึ่งปีที่ผ่านมามีการหดตัวเป็นอย่างมากทั้งในแง่มูลค่า และปริมาณ แต่มีอย่างเดียวที่เพิ่มคือราคาสินค้า รวมถึงแบรนด์สินค้าก็ลดการลงโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์ และใบปลิวต่างๆ ลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะถึงลงไป ประสิทธิภาพในการจูงใจก็น้อยลงเรื่อยๆ
“ถ้าทำแบบเดิมอยู่โอกาสที่จะกลับมาเติบโตก็ยาก สังเกตจากองค์กรที่มียอดขายเป็น Top 30 ของสินค้า FMCG ต่างมี Performance ตกลงหากนับตั้งแต่ 12 เดือนก่อนจนถึงตอนนี้ เพราะพวกเขาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การปรับตัวอะไรก็ยาก ต่างกับกลุ่มที่มียอดขายเป็น Top 31-100 ที่ยังมี Performance ที่เติบโตผ่านความคล่องตัวกว่า”
สำหรับการคิดใหม่นั้น Nielsen มองว่า การปรับตัวที่เร็ว (Fast), การลงทุนนวัตกรรม (Innovation) และการวางตำแหน่งสินค้า (Positioning) ให้ดีคือ 3 เรื่องสำคัญในการทำธุรกิจตอนนี้ โดยเฉพาะเรื่องการวางตำแหน่งนั้น อยากให้เป็นกลุ่ม Premium หรือ ECO เพราะการวางอยู่ระดับกลาง นอกจากการแข่งขันสูง ยังจูงใจผู้ซื้อลำบาก
อย่าลืมจังหวัดรอง เพราะไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพ
ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจควรเตรียมศึกษาจังหวัดรองที่มีประชากรเยอะ หรือ Large Middelweight (1-5 ล้านคน) กับ Small Middelweight (0.5-1 ล้านคน) เพราะมีอนาคตการเติบโตที่ชัดเจน หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในจังหวัดใหญ่ หรือ Maga City (5 ล้านคนขึ้นไป) ที่ประเทศไทยมีแค่กรุงเทพเพียงจังหวัดเดียว
“ไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพ แต่จังหวัดอื่นๆ เช่นเชียงใหม่, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, ชลบุรี และสงขลา ก็กำลังมีสัญญาณเติบโต ผ่านปัจจัยทั้งการเป็นพื้นที่เกี่ยวกับการส่งออก หรืออยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันสินค้าทั้งเบียร์, บุหรี่ และเครื่องดื่มต่างๆ ก็เริ่มมียอดขายหลักมาจากจังหวัดเหล่านี้แล้ว”
นอกจากนี้การเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศเช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็เป็นอีกโอกาสที่ดี เพราะที่นั่นยังมีช่องวางในการเติบโตอยู่อีกมาก รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคก็ใกล้เคียงกับประเทศไทย และองค์กรต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมองแค่ “อินโดนีเซีย” ที่มีประชากรจำนวนมาก เพราะถึงจะมาก แต่ถ้าการจับจ่ายโตน้อยก็ไม่คุ้มที่จะลงทุน
สรุป
แม้ GDP จะโต แต่หนี้ครัวเรือนยังสูง ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ที่ทำตลาดสินค้า FMCG รวมถึงสินค้าประเภทอื่นๆ ต้องวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าต้องการทำตลาดกับผู้บริโภคระดับไหน และต้องเอาตัวชี้วัด (Indicator) มาใช้ให้เยอะขึ้น การจะมองแค่ GDP อย่างเดียวคงไม่ถูกต้องอีกต่อไป
ในทางกลับกัน หากภาครัฐเกิดประกาศขึ้นภาษี VAT เป็น 9% ทาง Nielsen มองว่า น่าจะกระทบต่อการกลับมาเติบโตของการจับจ่าย และเศรษฐกิจแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา