นีลเส็น ฟันธง เม็ดเงิน โฆษณา 2565 ฟื้นแน่ แบรนด์เร่งลงทุน ผู้ผลิตพัฒนาเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม

นีลเส็น มั่นใจ เม็ดเงิน โฆษณา 2565 ฟื้นตัวกลับมาปกติ หลังปี 2563 หดตัวเหลือ 1.07 แสนล้านบาท และปีนี้ยังทรง ๆ เชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ลงทุนเพิ่ม แต่ฝั่งผู้ผลิตเนื้อหาต้องตอบโจทย์กลุ่มต่าง ๆ และใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่ให้เป็น

โฆษณา

เม็ดเงิน โฆษณา 2565 ฟื้นตัวแน่นอน

รัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย นีลเส็น ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในไทยหดตัวต่อเนื่อง หากนับจากปี 2562 ที่อยู่ราว 1.23 แสนล้านบาท ปี 2563 ที่มีโรคระบาดกลับปรับตัวลดลงเหลือ 1.07 แสนล้านบาท และนับถึงเดือน พ.ย. 2564 ตัวเลขใกล้เคียงปี 2563

สำหรับเม็ดเงินโฆษณาที่ฟื้นตัวในปี 2565 การใช้จ่ายของแบรนด์ต่าง ๆ จะพุ่งไปที่สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ เพราะทั้งสองยังมีอิทธิพลในการจับจ่ายของผู้บริโภค กล่าวคือ สื่อโทรทัศน์ ยังเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ดีที่สุด ผ่านการครอบคลุม 99% ของผู้บริโภค ส่วนสื่อออนไลน์ เป็นสื่อที่เข้าถึงได้รวดเร็ว และวัดผลได้จริง

อย่างไรก็ตามตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่ฟื้นตัว แบรนด์ต่าง ๆ ต้องวางแผนการทำตลาดในระยะสั้น และระยะยาวให้สมดุล เพื่อเกื้อกูลการสร้างรายได้ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้จริง เพราะหากเทไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อาจทำให้ภาพลักษณ์ และภาพรวมการทำตลาดของแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

เวลา-วาไรตี้-แพลตฟอร์ม คือสิ่งสำคัญ

นอกจากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2565 นีลเส็น สำรวจพบ 3 ทิศทางของธุรกิจสื่อในปี 2565 ประกอบด้วย

  • เวลา เพราะปัจจุบันผู้บริโภคต้องการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อ้างอิงจากความเร่งรีบของการใช้ชีวิต ทำให้พวกเขาต้องการรับสื่อที่ตัวเองชื่นชอบ และเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต
  • วาไรตี้ หรือความหลากหลายของเนื้อหา เพราะหากอ้างอิงจากเรื่องเวลาในข้อแรก แบรนด์ และผู้ผลิตสื่อ ต้องทำสื่อให้มีความหลากหลาย รับกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เพื่อเติบโตไปกับกระแสได้
  • แพลตฟอร์ม เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มหลากหลายที่ผู้บริโภคจะเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ทำให้แบรนด์ และผู้ผลิตสื่อ ต้องเลือกใช้แพลตฟอร์มเพื่อส่งเนื้อหาไปยังผู้บริโภคได้ดีที่สุด

นีลเส็น สำรวจพบว่า ผู้บริโภคในประเทศไทย ใช้เวลารับสื่อต่าง ๆ ถึง 9.32 ชม./วัน แบ่งเป็นสื่อโทรทัศน์ 4.10 ชม., สื่อออนไลน์ 3.45 ชม. และสื่อวิทยุ 1.37 ชม. หากเจาะไปที่สื่อโทรทัศน์ จะพบว่า การรับชมรายการสดทางโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลง ส่วนการรับชมย้อนหลัง และการรับชมรายการสดผ่านช่องทางออนไลน์มีมากขึ้น

“แม้โทรทัศน์จะมีอาการแผ่ว แต่สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อสำคัญในการใช้งาน เพราะเข้าถึงคนหมู่มากได้ดี ส่วนเนื้อหารายการที่หลากหลาย ซีรีส์ Y คือตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะไม่ใช่แค่กลุ่มวัยรุ่นที่รับชม แต่กลุ่มอายุ 40-50 ปี มีการรับชมเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสให้เแบรนด์เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือกลุ่มที่ต้องการได้มากขึ้นเช่นกัน”

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คือกลุ่มที่เติบโตที่สุด

หากเจาะไปที่อุตสาหกรรมที่ลงทุนโฆษณาในปี 2564 จะพบว่า การใช้เงินของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ค่อนข้างเหวี่ยง เพราะอุตสาหกรรมที่มีตัวเลขลงทุนโฆษณาเติบโตที่สุดคืออุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตถึง 33% รองลงมาเป็นค้าปลีก และร้านอาหารต่าง ๆ ที่เติบโต 25%

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้จ่ายโฆษณาลดลงมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เติบโตลดลง 13% รองลงมาคืออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง 12% เช่นเดียวกับธุรกิจอุปกรณ์ภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่ลดเม็ดเงินโฆษณาลง 12%

ทั้งนี้เม็ดเงินโฆษณาตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 2564 อยู่ที่ 97,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยโฆษณาโทรทัศน์คิดเป็นมูลค่า 57,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% รองลงมาเป็นโฆษณาดิจิทัล 21,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%

สรุป

แม้สถานการณ์โรค COVID-19 ระบาดยังไม่สิ้นสุด แต่แบรนด์ต่าง ๆ ต้องการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ และการลงทุนโฆษณาคือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ จึงไม่แปลกที่ นีลเส็น จะมั่นใจว่าเม็ดเงินโฆษณาปี 2565 จะเติบโต และส่วนตัวมองว่าอาจกลับไปสู่ช่วงก่อนโรค COVID-19 ระบาดได้

อ้างอิง // นีลเส็น

อ่านข่าวเกี่ยวกับเม็ดเงินโฆษณา และภาพรวมโฆษณาเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา