ผลสำรวจการใช้เน็ต คนไทยเกินครึ่งคิดว่า “unlimited” ใช้งานได้ไม่จำกัด

อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า คนไทยทุกช่วงอายุใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเล่นอินเทอร์เน็ตกันเป็นหลัก จึงน่าสนใจว่าอะไรที่เป็นปัญหา อุปสรรค ต่อการใช้งานหรือไม่ ทางนิด้าโพล จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ ในกลุ่มตัวอย่างคนไทยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,529 คน ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 2 ก.พ. 2560 เพื่อหาคำตอบ

อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงเกินแพ็คเกจ

ประเด็นแรกจากการสำรวจพบว่าปัญหาหลักจากการใช้แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตทางมือถือ คือความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตมีมากกว่าแพ็คเกจที่ผู้ให้บริการเสนอขาย คิดเป็น 43.99% รองลงมาคือ ราคาของแพ็คเกจสูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ได้ 36.01% และแพ็คเกจของผู้ให้บริการมีความซับซ้อน เข้าใจยาก บางครั้งจึงได้ในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการ 28.47%

จากสองอันดับแรก นับได้ว่า 80% ของกลุ่มตัวอย่างมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตพุ่งสูงเกินกว่าแพ็กเกจที่ผู้ให้บริการนำเสนอขายในปัจจุบัน

ขณะที่ผลสำรวจระยะเวลาการใช้งานเน็ตบนมิอถือ พบว่าอันดับแรก ใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็น 24.72% รองลงมา ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน 21.91% และใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน 19.23% โดยวัตถุประสงค์ในการใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อพูดคุยติดต่อกับบุคคลที่รู้จัก 85.61% ผ่าน LINE, Facebook และ Instagram ตามลำดับ รองลงมา คือ โพสข้อความ/รูปภาพ 63.90% โดยผ่าน Facebook, Instagram และ LINE ตามลำดับ และติดตามข่าวสารทั่วไป เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม กีฬา 55..79%

คิดว่า unlimited คือใช้ได้ไม่อั้น

เมื่อสอบถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับแพ็คเกจแบบ ‘ใช้ได้ไม่อั้น’ หรือ ‘Unlimited’ พบว่า 49.05% เข้าใจว่า เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตจนถึงจุดหนึ่งที่กำหนดไว้ในแพ็คเกจ อินเทอร์เน็ตจะถูกปรับลดความเร็ว แต่ยังใช้ต่อไปได้ ขณะที่ 35.45% เข้าใจว่าสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ด้วยความเร็วที่ดีที่สุดของเครือข่ายมือถือนั้น และ 15.30% เข้าใจว่า สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด ตามจำนวนวันที่ซื้อ

เมื่อเจาะลึกถึงปัญหาของผู้ใช้บริการแบบรายเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เน็ตได้ไม่อั้น พบว่าปัญหาใหญ่ของกลุ่มนี้ คือ ‘เน็ตปรับลดสปีด’ 40.25% อินเทอร์เน็ตจะถูกปรับลดสปีด ทำให้วิ่งช้าลง เมื่อการใช้งานผ่านไประยะหนึง รองลงมา 35.17% จำนวนอินเทอร์เน็ตที่ให้มาตามแพ็กเกจ ไม่เคยใช้พอ และ 21.89% ค่าโทรที่ให้มาตามแพ็กเกจ ไม่เคยใช้พอ

ด้านผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน พบว่า 41.18% เจอปัญหาโปรเสริมมีข้อจำกัดมากมาย บางครั้งไม่สามารถรู้เท่าทัน จึงทำให้เสียเงินไปในสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือได้จำนวนเน็ตหรือโทรที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดไว้ รองลงมา 26.66% โปรเสริมมีมากมาย ซับซ้อน ยุ่งยาก ไม่เข้าใจรายละเอียดในการใช้งาน และ 20.45% ยอดเงินที่เติมหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

ข้อเสนอแนะ หรือวิธีการแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับแพ็กเกจแบบรายเดือน หรือแพ็กเกจแบบเติมเงิน พบว่า 28.38% สัญญาณอินเทอร์เน็ตควรมีความเร็วสม่ำเสมอ 16.59% ควรปรับปรุงสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้มีความเสถียร และ 15.72% ควรเพิ่มจำนวนชั่วโมงเน็ตที่เยอะขึ้นแต่ราคาแพ็คเกจถูกลง

สรุป

ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น บอกว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ ซึ่งความสับสนเกี่ยวกับแพ็คเกจแบบใช้ได้ไม่จำกัด เป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ให้บริการต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือออกแพ็คเกจที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น ผู้ใช้บริการรายแบบเดือนประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพและปริมาณของสัญญาณทั้งอินเทอร์เน็ตและการโทร ขณะที่ผู้ใช้บริการแบบเติมเงินประสบปัญหาเกี่ยวกับโปรโมชั่นเสริมและยอดเงินเป็นหลัก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา