Trade war ทำโลกฝุ่นตลบ แต่ทำไมหุ้นไทยมีโอกาสพุ่งแตะ 1,700 จุดในเดือนมิ.ย.นี้

ขณะนี้ทั่วโลกจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ออกมาตรการทางภาษีตอบโต้กันไปมา ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลง นี่จะเป็นโอกาสซื้อหุ้น (ของไทย) หรือถือเงินสดเก็บไว้ก่อนดี?

ประธานาธิบดีทรัมป์และ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการเจรจา 2 ฝ่าย ที่ประเทศจีน เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2017 – ภาพโดย Shealah Craighead จากเว็บไซต์ทำเนียบขาว

Trade War ไม่จบสหรัฐฯ -จีน แข่งกันตั้งภาษี

เมื่อวันศุกร์ (10 พ.ค. 2562) สหรัฐฯ ตั้งภาษีสินค้าจีนที่จะนำเข้าสหรัฐจาก 10% เป็น 25% มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 2 แสนล้านบาท) เพื่อกดดันจีนในการเจรจาการค้า (แต่เจรจาการค้าไม่สำเร็จ) จนล่าสุดจีนประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ ที่ส่งเข้ามาในจีน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มใช้ 1 มิ.ย. 2562 เช่นกัน

ขณะที่ Trade war ยังฝุ่นตลบทางสหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ จากจีนอีก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.6 ล้านล้านบาท) โดย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ มองว่าจะเจรจาการค้าภายในเดือนมิ.ย. 2562

SCB CIO Office บอกว่า ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ (13 พ.ค. 2562) ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก ตั้งแต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นจีน ตลาดหุ้นไทย ขณะเดียวกันราคาน้ำมันโลกปรับลดลง สาเหตุหลักเพราะนักลงทุนกังวลเรื่องสงครามการค้าอาจจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการใช้น้ำมันที่ต่ำลง

ทั้งนี้เมื่อตลาดหุ้นทั่วโลกติดลบ และความเชื่อมั่นนักลงทุนต่ำลง จะเห็นว่าเงินไหลไปอยูในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น นักลงทุนเข้าซื้อทองคำ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ ได้แก่

  • การเจรจาสงครามการค้า (Trade War) จะมีข้อสรุปอย่างไร?
  • ในวันที่ 11-12 พ.ค. นี้ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐ จะประกาศผลการสอบสวนกรณีการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนสหรัฐฯ จากคู่ค้าหลัก เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ภายใต้ Section 232 หรือไม่?
  • ปัจจัยในประเทศ ต้องจับตามอง รายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และจับตาการการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คาดว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน, ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน, ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน, ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ, GDP ในไตรมาส 1/2562 ของยูโรโซน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ
ภาพจาก Shutterstock

ทิสโก้ชี้หุ้นไทยเตรียมบวก 1,690-1,700 จุด ต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าประเทศ-การเมืองนิ่ง

วิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ บอกว่า เดือนพ.ค.-มิ.ย. 2562 คาดว่าตลาดหุ้นไทย (​SET) จะมีแนวรับอยู่ที่ 1,630 – 1,650 จุด โดยเฉพาะช่วงมิ.ย. อาจขยับสูงขึ้นคาดว่ามีแนวต้านที่ 1,680 – 1,700 จุด ซึ่งตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเติบโตจาก 2 ปัจจัยบวก คือ

  1. ดัชนี MSCI เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยเป็น 2.5% จากเดิม 2.3% คาดว่าจะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทย
    และตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. นี้ (วันที่ MSCI ประกาศการเพิ่มน้ำหนักลงทุน) มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท ทาง ทิสโก้ประเมินว่ามีหุ้นที่จะได้รับการเพิ่มน้ำหนักได้แก่
    SCC     – บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)   BDMS  – บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
    CPN     – บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)  CPALL  – บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
    KBANK – ธนาคารกสิกรไทย                         
    LH       – บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
    PTT      –  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)          BANPU – บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
    EGCO   –  บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
  2. การเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้เดือนมิ.ย. 2562 นี้คาดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

“ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเงินทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิทุกตลาดในภูมิภาคเอเชียยกเว้นตลาดหุ้นไทย เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่หลังจากการเมืองไทยเริ่มชัดเจนแล้วจึงเป็นไปได้สูงว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนเดือนพ.ค.นี้ แนะนำให้นักลงทุนถือเงินสด 20% และลงทุนในหุ้น 80% ของเงินลงทุนทั้งหมด”

นอกจากนี้การลงทุนในตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะในตลาด A-Shares เพราะเป็นหนึ่งในตลาดที่ MSCI ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทางทิสโก้ คาดว่าตลาดหุ้นจีน  A-Shares จะปรับขึ้นไปแตะจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้ในปี 2561 ได้อีกครั้ง แม้จะมีความไม่แน่นอนเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่เชื่อว่ามาตรการกำแพงภาษีจะถูกยกเลิก (เพราะไม่มีฝ่ายไหนได้ประโยชน์)

สรุป

สงครามการค้ายังสร้างความหวั่นไหวให้ทั่วโลกไปสักระยะ แม้ปัญหาจะเกิดขึ้นกับ 2 ประเทศ แต่ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ไม่ว่าใครจะทำธุรกิจ หรือลงทุนเกี่ยวข้องกับต่างประเทศต้องจับตามองปัจจัยนี้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา Bloomberg,

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง