ประชากรเอเชียเพิ่มเร็ว วิกฤตอาหารมาแน่ แต่ไทยยังมีอาหารเหลือพอส่งออก

10 ปีข้างหน้า เอเชียจะไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องลงทุนสูงถึง 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24 ล้านล้านบาทเพื่อให้มีอาหารพอเลี้ยงคนทั้งภูมิภาคได้ 

เนื่องจากอัตราประชากรในเอเชียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การบริโภคก็จะต้องการอาหารที่เป็น Sustainable food หรืออาหารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น คือปลอดจากสารพิษ ปลอดจากสารเคมี เน้นอาหารที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น 

การใช้จ่ายเรื่องอาหารจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน จะมากกว่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2030 หรือประมาณ 240 ล้านล้านบาท

ภาพจาก UNCTAD: แผนที่ระบุว่าพื้นที่ไหนขาดแคลนอาหาร สำหรับไทยอยู่ในพื้นที่อาหารล้นเกิน

สาเหตุที่เอเชียต้องประสบปัญหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีการรายงาน ประเทศในละตินอเมริกา ในแอฟริกาตะวันออก และเอเชียใต้เป็นผู้ส่งออกอาหารให้เอเชียและแอฟริกาที่นำเข้าอาหารในปริมาณมาก ข้อมูลนี้เขาอ้างจากรายงานของ Temasek ที่ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 

ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่าพื้นที่สีส้มอ่อนคือพื้นที่ขาดแคลนอาหารสูง ซึ่งมีทั้งประเทศจีน รัสเซีย คาซัคสถาน มองโกเลีย จีน ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ฯลฯ ขณะที่พื้นที่สีแดงขาดแลนอาหารค่อนข้างสูงมาก ฟินแลนด์ อิหร่าน คูเวต กาตาร์ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย เยเมน ฯลฯ 

ทั้งนี้ Richard Skinner ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านกลยุทธ์แห่งเอเชียแปซิฟิก PwC ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า

“เราพึ่งพาคนอื่นทั้งในเรื่องของอาหารและเทคโนโลยีมากเกินไป ถ้าเราไม่หาทางแก้ไข วันหนึ่งเราจะเจอปัญหาหนัก”

Skinner อ้างถึงสงครามในประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา อาหารก็เป็นประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามได้

ในรายงานของ PwC เองเขาก็บอกว่าความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอาหารก็มีอย่างจำกัดมากขึ้น โดยในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 35% จากปัจจุบัน น่าจะมีจำนวนมากถึง 10,000 ล้านคน 

ภาพจาก PwC: สัดส่วนประเภทอาหารของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาเปรียบเทียบ

จากภาพด้านบนเปรียบเทียบระหว่างช่วง 1961-1973 และ 2009-2011 ถือว่าเมล็ดพันธุ์มีใกล้เคียงกัน แต่เนื้อสัตว์แตกต่างกันค่อนข้างมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมด้วย

ภาพจาก PwC: อธิบายรายได้ต่อหัวและการพึ่งพาการนำเข้าอาหารของกลุ่มประเทศต่างๆ

PwC อธิบายภาพด้านบนโดยแบ่งประเทศเป็น 4 กลุ่ม แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือแกนนอนเป็นรายได้ต่อหัวจากระดับต่ำไประดับสูง และแกนตั้งเป็นการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากระดับต่ำไประดับสูง

กลุ่มที่ 1 Resource scare กลุ่มขาดแคลนทรัพยากร

คือประเทศมอลตา (Malta) มาเลเซีย และเลบานอน คือประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารสูงและยังมีรายได้ต่อหัวต่ำด้วย ศักยภาพในการผลิตอาหารเองก็ต่ำ ถือเป็นกลุ่มประเทศที่น่าเป็นห่วง 

กลุ่มที่ 2 Emerging producers กลุ่มผู้ผลิตรายใหม่

ประเทศรัสเซีย จีน เปรู ไนจีเรีย บราซิล และอินเดียคือกลุ่มใหม่ที่มีกำลังในการผลิตต่ำกว่าศักยภาพ มีการนำเข้าอาหารต่ำและยังมีรายได้ต่อหัวต่ำเช่นกัน พื้นที่นี้มีแหล่งทรัพยากรเพื่อการเกษตรที่สำคัญ มีทั้งแรงงานจำนวนมากและยังมีที่ดินเยอะด้วย หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะพัฒนาและแก้ปัญหาได้มาก 

กลุ่มที่ 3 Import dependents กลุ่มที่พึ่งพาการนำเข้า 

คือประเทศเนเธอร์แลนด์ กาตาร์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่นมีรายได้ตัวหัวสูงและพึ่งพาการนำเข้าอาหารค่อนข้างมาก ซาอุดิอาระเบียและสิงคโปร์ไม่สามารถผลิตอาหารภายในประเทศได้ แต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสานสัมพันธ์กับคู่ค้าดีๆ ก็ช่วยส่งเสริมกันและกันได้ การนำเข้าอาหารที่หลากหลายก็ช่วยได้ 

กลุ่มที่ 4 Mature producers กลุ่มผู้ผลิตที่เริ่มอยู่ตัวแล้ว 

คือประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ มีรายได้ต่อหัวสูงและมีการพึ่งพาการนำเข้าต่ำ สิ่งที่น่ากังวลของกลุ่มประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องผลิตอาหารเพราะผลิตได้อยู่แล้ว ผลิตได้ดีด้วย แต่เรื่องที่น่ากังวลคือความเสี่ยงเกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร ปัญหาขยะอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร 

ที่มา – CNBC, UNCTAD, PwC, Research PwC, Robobank, Temasek

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา