Newsweek แฉไทยฉาวหนักเพราะหลอกลวงออนไลน์ เทรนด์มาแรงคือหลอกให้รักและโกง

สื่อต่างชาติแฉ ไทยฉาวหนักเพราะหลอกลวงออนไลน์

Newsweek รายงาน การหลอกลวงออนไลน์ในไทยมีมูลค่ามหาศาลถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท ตอนนี้กำลังมุ่งเป้าที่เหยื่อชาวอเมริกัน

newsweek

จากข่าว Newsweek เผยว่า การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราว แต่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว แถมไทยยังเป็นประเทศที่มีการโทรศัพท์และส่งข้อความเพื่อหลอกลวงมากที่สุดของเอเชีย เมื่อปีที่ผ่านมารายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า มีการรายงานปัญหานี้มากถึง 78.8 ล้านรายการ

เหตุหลอกหลวงดังกล่าวบ่อยครั้งมักมีคนจีนเป็นผู้วางแผนการและกำลังขยายกิจการไปยังสหรัฐอเมริกา แถมยังหลอกคนอเมริกันได้เพิ่มขึ้นอีก

ปี 2023 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาออกคำเตือนว่าชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายจากการหลอกลวง โดยเมื่อธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมประกาศว่ากำลังดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 4 รายในสหรัฐอเมริกา พวกเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าถูกฟอกเงินกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.6 พันล้านบาทจากการฉ้อโกง

ด้าน Newsweek ยังได้สัมภาษณ์อดีตผู้หลอกหลวงคนอื่นมาด้วย ชื่อ Narin เขาเล่าถึงเส้นทางสายมืดที่เขาเคยทำด้านอาชญากรรมไซเบอร์มาก่อน เขาเดินทางจากเชียงใหม่ ไปยังเชียงราย ก่อนจะข้ามไปท่าขี้เหล็ก เมียนมา และจากนั้นก็ถูกส่งตัวไปยังเมืองเล่าก์ก่าย เมืองชายแดนของเมียนมาที่ขึ้นชื่อในเรื่องการหลอกลวงทางโทรศัพท์

Narin เล่าว่า เขาถูกจ้างโดยเพื่อนของเพื่อน ตัวเขาเองไว้ใจเพื่อนมากเพราะเขาเองก็ต้องการเงินอย่างมาก เมื่อไปถึงเมียนมา เขาก็รู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้น มันคืออะไร ตัวเขาเองก็กังวลและกลัวในเรื่องความปลอดภัยของตัวเองมาก เขารู้สึกว่ากำลังติดกับดักแต่ก็หาทางออกมาไม่ได้

Romance scams เกิดบ่อย กับผู้หญิงอายุ 20-25 ปีและอายุ 30 ปีขึ้นไปที่ชอบชอปปิงออนไลน์

สิ่งที่ Narin ทำก็คือ Romance Scams หรือหลอกลวงให้รักทางออนไลน์เพื่อหาทางให้อีกฝ่ายโอนเงินมาให้ นอกจากนี้ เขาก็ต้องแสร้งทำเป็นเจ้าหน้าที่จากแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Shopee หรือไม่ก็ Lazada เพื่อหลอกเอาเงินจากผู้คนที่หลงเชื่อเช่นกัน

นอกจากนี้ พล.ต.ต. ดร. ธัชชัย ปิตะนีลุบุตร ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังให้สัมภาษณ์กับ Newsweek ด้วยว่า แท็กติกที่มักนำใช้ในไทยมักมาในรูปแบบของ Romance scams คือหลอกให้รักและโอนเงินให้ พวกเขาจะทำให้คุณรู้สึกตกหลุมรัก ทั้งการใช้ภาพถ่ายที่ดึงดูดใจ ไปจนถึงสร้างความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจ และในที่สุดก็ชวนให้คุณไปลงทุนทำอะไรสักอย่าง เป็นการหลอกให้มาลงทุน

Narin บอกว่า เหยื่อที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็คือคนที่อายุมากกว่า 30 ปี บ่อยครั้งก็จะมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะคนที่ชอบชอปปิงออนไลน์ และคนที่ดูหนุ่มสาวอายุราว 20-25 ปี

ด้าน เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เล่าว่า เหยื่อที่ยังอายุน้อยอาจจะฟื้นตัวทางการเงินได้ แต่เหยื่อที่สูงวัยต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของชีวิตโดยรวม แม้เคสเหล่านี้จะเกิดขึ้นน้อย แต่ก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเพราะส่งผลกระทบรุนแรง

Romance scams หลักล้าน 

เคสตัวอย่างจาก Buggan หญิงสูงวัยอายุ 60 ปี นี่ก็เป็นเคสที่ถูกหลอกลวงจากการคิดแผนมาอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่า 1 ปีครึ่งและยังเป็นการหลอกลวงด้านความรักที่ยาวนานที่สุดด้วย

เรื่องมันเริ่มจาก พวกเขาพบกันหลังเจอกันทาง facebook ในปี 2018 เธอถูกหลอกให้หลงเชื่อว่าจะได้รับเงินคืน 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 33 ล้านบาท หากเธอจ่ายค่าภาษีข้ามพรมแดนจากโครงการท่อส่งน้ำมันในมาเลเซียให้ในมูลค่า 5.5 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่หลอกลวงก็อ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนจากธนาคารโลกด้วย

จากนั้น Buggan ก็โอนเงินให้ในเดือนธันวาคม ปี 2019 อาชญากรก็ยังคงหลอกลวงเธอและติดต่อเธอต่อไปอีกเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นก็หายตัวไป เธอถึงตระหนักได้ว่าโดนหลอกเข้าแล้ว จึงได้แจ้งเหตุอาชญากรรมนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.ต. ดร. ธัชชัย ปิตะนีลุบุตร ก็พยายามรับมือกับแก๊งอาชญากรดังกล่าว โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝั่งกัมพูชาด้วย เขาเล่าว่าเขาใช้เวลาต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์มา 3 ปีแล้ว แต่จำนวนอาชญากรรมไซเบอร์ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เหตุที่มันเพิ่มขึ้นก็เพราะว่ามันทำงานและปลอดภัยกว่าการไปก่ออาชญากรรมตามท้องถนน ซึ่งผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมนี้ก็มีทั้งคนจีนที่เป็นคนวางแผน ร่วมมือกับคนไทย และเหตุการณ์ดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะเริ่มมีการก่อการบริเวณประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายไทย เขาบอกว่ามันเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายที่ทำให้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำตัวกลับไทยเพื่อเอามาลงโทษ

ตำรวจไทยรับมือแก๊งอาชญากรรมไซเบอร์ ด้วยการส่งสัญญาณรบกวนอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ พร้อมจัดการบัญชีปลอมร่วมกับ facebook, Google

สำหรับวิธีการที่เจ้าหน้าที่ไทยจัดการตอนนี้ คือการมุ่งเป้าไปที่การใช้สัญญาณโทรศัพท์ของแก๊งอาชญากรที่ใช้โทรหาเหยื่อในไทย โดยส่งสัญญาณรบกวนผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม รวมถึงบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วย นอกจากนี้ยังเตรียมพิจารณาไปที่โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Google ด้วย

ตอนนี้ไทยออกหมายจับสมาชิกแก๊งในกัมพูชาแล้ว 165 คดี และตำรวจกัมพูชาได้ดำเนินการขออนุมัติจากศาลในประเทศ แล้ว คาดว่าศาลกัมพูชาจะออกหมายจับเร็วๆ นี้ ด้าน Narin หลังจากได้รับการช่วยเหลือให้กลับไทยได้ โดยกลไกส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) เขาก็ไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ แต่รัฐมองว่าเขาเต็มใจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมฉ้อโกงนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

พล.ต.ต. ดร. ธัชชัย ปิตะนีลุบุตร ระบุว่า ได้พยายามยื่นเรื่องไปยัง Facebook และ Google แล้ว เพื่อให้ทาง Facebook รับมือกับพวกบัญชีปลอมทั้งหลายอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งทาง Meta บริษัทแม่ของ Facebook ก็ได้ให้ความเห็นกับ Newsweek ไว้ว่า ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับตำรวจไทยเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายจัดการพวกที่ฉ้อโกงดังกล่าว

Meta ระบุว่า ได้ลบบัญชี Facebook ปลอมไปแล้ว 1.2 พันล้านบัญชี และยังมีสแปมอีก 322 ชิ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา โดย Meta เสนอให้มีการหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงด้วย ผ่านโครงการ We Think Digital Thailand และยังมีการทำแคมเปญผ่าน #StayingSafeOnline และ Decode Scam ด้วย

ตำรวจสากลเดินหน้าปราบเต็มที่ 

ด้านองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือองค์การตำรวจสากล (Interpol) ได้รายงานไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ที่ผ่านมาว่า มีการปฏิบัติการจากตำรวจระดับโลกกินพื้นที่ 61 ประเทศในการทลายเครือข่ายหลอกลวงออนไลน์และสามารถอายัดบัญชีธนาคารได้ถึง 6,745 บัญชี ยึดทรัพย์ได้มหาศาลถึง 257 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 8.6 พันล้านบาท

ตำรวจสากลมีปฏิบัติการที่เรียกว่า Operation First Light 2024 เพื่อมารับมือกับพวกหลอกลวงออนไลน์โดยเฉพาะ มีทั้ง Target Phishing (การหลอกลวงเหยื่อแบบมุ่งเป้า ทำได้หลายอย่างทั้งส่งข้อความปลอม อีเมล์ปลอม เว็บไซต์ปลอม โปรแกรมปลอมเพื่อหลอกล่อให้เหยื่อ) ปฏิบัติการดังกล่าวทำมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

มีทั้งการหลอกลงทุน การชอปออนไลน์ปลอม การหลอกให้รักและฉ้อโกง ไปจนถึงการหลอกปลอมตัวเป็นคนอื่น ปฏิบัติการดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3,950 ราย และระบุตัวตนผู้ต้องสงสัยที่มีความเป็นไปได้อีก 14,643 รายจากทุกทวีปทั่วโลก

มีการสกัดเงินเฟียต (Fiat currency) ได้ 135 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.5 พันล้านบาท (เงินเฟียตคือเงินตราที่คนใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร หรือเงินเยน เป็นเงินที่มีการกำกับและควบคุมโดยรัฐบาล เขาเรียกว่าเงินเฟียต)

นอกจากนี้ ก็สามารถยึดทรัพย์ได้มูลค่ากว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งก็มีทั้งอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์หรู เครื่องประดับราคาแพงระยับ และสิ่งของมูลค่าสูงอีกเป็นจำนวนมาก

ด้าน Yong Wang หัวหน้าองค์การตำรวจสากลในปักกิ่ง จีน ระบุว่า ในนามของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะนั้น โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงจากการฉ้อโกงในสังคม โดยกลุ่มอาชญกรรมที่กำลังปฏิบัติการจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา กำลังมีเหยื่อยอยู่ในทุกทวีป

จีนย้ำว่า ไม่มีประเทศใดที่มีภูมิคุ้มกันจากอาชญากรรมเหล่านี้ได้ นานาชาติจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือและต่อสู้กับอาชญากรรมดังกล่าวร่วมกัน

ที่มา – Newsweek, Interpol, We Think Digital, Meta

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา