ชีวิตนักศึกษาจบใหม่ เมื่อ “เงินเดือน” สวนทางกับรายจ่าย จะอยู่สบายถ้าที่บ้านช่วยเหลือ

ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงที่นักศึกษาจำนวนมากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพร้อมๆ กัน ซึ่งการจบการศึกษานี้เป็นเหมือนช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิต จากวัยเรียนไปสู่วัยทำงานที่ต้องเผชิญกับโลกความเป็นจริง และสร้างความกดดันให้กับบุคคลที่เพิ่งเปลี่ยนสถานะภายในเวลาช่วงข้ามคืน

ความกดดันของนักศึกษาจบใหม่ในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการหางาน ในสภาพเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์โควิด-19 จากสถิติอุดมศึกษา ของกระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่า ในปี 2561 มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นจำนวน 303,149 ราย ระดับปริญญาโท 31,273 ราย และระดับปริญญาเอก มีผู้จบการศึกษา 3,905 ราย

โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ในระดับปริญญาตรี ที่นับว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากชีวิตการเรียน เข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ที่แต่ละปีมีผู้จบการศึกษาใหม่หลายแสนราย ซึ่งตัวเลขนี้สวนทางกับอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์โควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าในเดือนมีนาคม 2563 มีผู้ว่างงานประมาณ 3.92 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1%

คู่แข่งของนักศึกษาจบใหม่ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากจะต้องแข่งกับนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบมาพร้อมๆ กันแล้ว ยังต้องแข่งกับนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตร 3 ปีครึ่ง ที่เรียนจบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่อาจยังไม่ได้งาน และกำลังหางานอยู่ เพราะติดปัญหาไม่สามารถหางานได้เมื่อตอนโควิด-19 ระบาดหนักๆ นอกจากนี้ยังต้องแข่งกับคนที่เพิ่งตกงาน เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจ ยิ่งทำให้นักศึกษาจบใหม่มีคู่แข่งมากขึ้น และคนที่เพิ่งตกงานก็มีข้อได้เปรียบบางประการ นั่นคือ ประสบการณ์ที่นักศึกษาจบใหม่ยังไม่เคยมี

นักศึกษาจบใหม่บางคนหางานได้แล้ว และกำลังกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเต็มตัว แต่ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญคือ “เงินเดือน” ของนักศึกษาจบใหม่ ที่ไม่อาจไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

จากผลการสำรวจผู้อ่าน Brand Inside ที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ ส่วนใหญ่พบว่า มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทขึ้นไป และนักศึกษาจบใหม่ที่มีรายได้ น้อยกว่า 15,000 บาท และมีรายได้ประมาณ 15,000 บาท มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คำถามที่เกิดขึ้นคือ นักศึกษาที่เรียนจบใหม่มีรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหรือไม่?

เด็กจบใหม่ มีรายได้ แต่ใช้จ่ายอย่างไรจึงจะพอ

นางสาวมะปราง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดัง เธอทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีรายได้อยู่ในช่วง 15,000-18,000 บาท เธอเล่าว่า เงินเดือนของเธอแต่ละเดือนหมดไปกับค่าใช้จ่ายการเดินทางกว่า 20% เพราะบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน เสียค่าเดินทางวันละประมาณ 100 บาท ยังไม่รวมกับค่าอาหารที่ต้องจ่ายอีก 100 บาทต่อวัน เพราะทำงานอยู่กลางเมืองค่าครองชีพจึงค่อนข้างสูง

เมื่อถามเธอว่ามีเงินเหลือเก็บบ้างไหม มะปรางตอบว่า มีเงินเหลือเก็บ เพราะตั้งใจทำงานเพื่อเก็บเงิน ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยเพื่อซื้อของใดๆ เลย ดังนั้นเธอกล่าวเสริมว่า หากใช้ชีวิตแบบซื้อของที่อยากได้ จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บ

นางสาวใบบัว จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในหลักสูตร 3 ปีครึ่ง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และได้งานทำตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ เล่าว่า เธอทำงานสาย Customer Service หรือการบริการลูกค้า มีรายได้ในช่วง 18,000-20,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องแลกด้วยการทำงานไม่เป็นเวลา และแต่ละวันหมดไปกับการทำงานถึง 12 ชั่วโมง เธอจึงมองว่ารายได้ของเธออาจไม่เหมาะสมกับการทำงาน

ยิ่งถามถึงค่าใช้จ่ายรายวัน พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางยังคงเป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่ใบบัวต้องเสีย มากกว่า 100 บาทต่อวัน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระหว่างวัน โดยเฉพาะค่าอาหาร ส่วนเงินที่เหลือเก็บในแต่ละเดือนใบบัวเล่าว่า เธอเก็บเงินได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท บางเดือนก็ไม่ได้เก็บเงินเลย แต่อย่างไรก็ตาม บางเดือนมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินก็จะต้องเอาเงินที่เคยเก็บไปออกมาใช้อยู่ดี ไม่สามารถเก็บเงินได้ตลอด

นายปกป้อง จบการศึกษาเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีรายได้อยู่ในช่วงเดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป เล่าว่า แม้รายได้เดือนละสองหมื่นกว่าๆ จะดูเหมือนมากสำหรับเด็กจบใหม่ในสายสังคมศาสตร์ แต่ความจริงแล้ว รายได้เท่านี้จะเพียงพอก็ต่อเมื่อเด็กจบใหม่คนนั้นมีที่บ้านคอยสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่อยู่ หรือมีพ่อแม่ช่วยออกค่าน้ำมันรถ

ปกป้องคิดว่า หากตัวเองต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในชีวิตประจำวันเอง รายได้สองหมื่นกว่าบาทคงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในเมืองที่มีค่าครองชีพสูงอย่างกรุงเทพฯ ส่วนเงินออม ปกป้องเล่าว่า เขามีเงินเหลือเก็บเดือนละ 10,000 บาท เพราะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่บ้าน หากที่บ้านมีภาระเขาคงไม่สามารถเก็บเงินได้มากเท่านี้

เงินเดือนเด็กจบใหม่ ใช้พอ ถ้าที่บ้านช่วยเหลือ

นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบและมีงานทำ ได้รับความกดดันจากหลายๆ ทาง โดยเฉพาะเรื่องรายได้ จากที่ไม่เคยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิต บางคนโชคดีที่ครอบครัวยังให้ความช่วยเหลือออกค่าใช้จ่ายให้บางส่วน บางคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย ก็จะสามารถใช้เงินเดือนที่มีได้อย่างเต็มที่ มีเงินพอเหลือเก็บ ซื้อของฟุ่มเฟือยได้ตามสมควร

แต่บางคน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เพิ่งเรียนจบและเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เพียงคนเดียว ต้องเสียค่าเช่าที่พักเดือนละหลายพันบาท รายได้ 15,000-18,000 คงอาจไม่พอใช้ หรือหากพอใช้ คงเป็นการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน ไม่ได้มีเงินเหลือเก็บเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ยิ่งคนที่ครอบครัวมีภาระ ต้องช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ก็จะยิ่งสร้างความกดดันให้ใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้นไปอีก

ที่มา – สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กระทรวงการอุดมศึกษา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา