สถานการณ์โควิดเร่งเร้าให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว เพราะนอกจากจะเผชิญปัญหายอดขายลดลงหรือขาดทุนแล้ว บางธุรกิจอาจถึงขั้นต้องปิดตัวเลยทีเดียว ดังนั้น การหาช่องทางรายได้ใหม่จึงเป็นหนึ่งทางออกที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ในสถานการณ์ไม่เป็นใจ
เริ่มจากคำถามว่า : ธุรกิจเราสามารถขายอะไรให้ลูกค้าเก่าได้อีก
พอพูดถึงช่องทางหารายได้ใหม่ หลายคนมักพุ่งเป้าไปที่การหากลุ่มลูกค้าใหม่เป็นหลัก แต่ที่จริงแล้ว ลูกค้าเก่าคือกลุ่มคนชั้นดีที่มีโอกาสสร้างรายได้ให้ธุรกิจเราอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขารู้จักและไว้ใจแบรนด์ของเราในระดับหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่ควรหลงลืมคือการทบทวนเสมอว่า เราเข้าใจความต้องการของลูกค้าดีพอหรือยัง เพราะในหลายๆ ครั้ง เจ้าของธุรกิจมักคิดว่าตัวเองรู้ความต้องการของลูกค้าครบถ้วนแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง ความต้องการของลูกค้ามักเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อยตามกาลเวลา
ขั้นที่สอง : เจาะ Pain Point ลูกค้าเก่าและลองหา Pain Point ลูกค้าใหม่
เมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจพอจะทำได้คือกลับมาค้นหา Pain Point ของลูกค้าอีกครั้ง เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้าได้มากที่สุด
โดยเราสามารถขุดหา Pain Point ใหม่ๆ ของลูกค้าผ่านคำถามเหล่านี้ เช่น ช่วงนี้ลูกค้าอยากทำหรืออยากได้อะไร, ในแต่ละวันลูกค้าต้องเสียเวลาไปกับการทำอะไร, ลูกค้าจะรู้สึกหงุดหงิดหรือกังวลตอนไหน, สาเหตุที่แท้จริงของแต่ละ Pain Point ที่ลูกค้าเจอคืออะไร เป็นต้น
ขั้นที่สาม : เราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ส่งมอบสินค้าบริการที่ดีกว่าให้ลูกค้าอย่างไร
หลังจากเข้าใจ Pain Point ของลูกค้ามากขึ้นแล้ว ให้ลองวิเคราะห์ดูว่าจะต่อยอดช่องทางหารายได้ใหม่ จากสินค้าหรือบริการที่มีอยู่อย่างไร โดยในขั้นตอนนี้เราสามารถนำความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราขายคุกกี้ เราอาจตั้งคำถามว่า “นอกจากเป็นขนมธรรมดาๆ แล้ว คุกกี้ของเราสามารถมอบคุณค่าอะไรให้ลูกค้าได้อีก” หรือถ้าขายเฟอร์นิเจอร์ เราอาจตั้งคำถามว่า “นอกจากความสวยงาม ความคงทน และราคาที่ย่อมเยา ลูกค้ายังอยากได้บริการอะไรเพิ่มเติม” ซึ่งคำถามแนวนี้จะช่วยให้เราคิดนอกกรอบ และอาจนำเทรนด์ตลาดได้ในอนาคต
ขั้นที่สี่ : ทบทวนว่าไอเดียธุรกิจที่คิดได้สอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์หรือไม่
แน่นอนว่าการหาช่องทางรายได้ใหม่เป็นเรื่องน่าทำ แต่อย่าลืมว่าไอเดียที่นำมาปรับใช้จริงนั้นต้องไม่ขัดกับตัวตนและภาพลักษณ์ของแบรนด์ ในทางกลับกัน ถ้าไอเดียไหนสามารถนำมาใช้สื่อสารแบรนด์ได้ชัดเจนขึ้นนั้นยิ่งดี
ดังนั้น ก่อนนำไอเดียธุรกิจไหนมาทดลอง ให้มองในระยะยาวก่อนว่าไอเดียนั้นจะส่งผลดีต่อแบรนด์ของเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจริงไหม ซึ่งถ้าพบไอเดียที่น่าลองนำมาทำแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างก็ควรประเมินความเสี่ยงและวิธีรับมืออย่างรอบคอบ
ขั้นที่ห้า : ลองนำไอเดียใหม่มาทดลองทำจริงและคอยวัดผลตอบรับจากลูกค้า
เราสามารถเริ่มต้นทดสอบไอเดียกับกลุ่มลูกค้าเก่าที่ซื้อสินค้าบริการของเราอย่างเป็นประจำก่อน เพราะลูกค้าเก่าจะคุ้นเคยกับธุรกิจของเรา และให้ฟีดแบคได้อย่างละเอียดว่า สินค้าบริการใหม่ที่เรานำเสนอไปนั้นพัฒนากว่าแบบเดิมมากน้อยแค่ไหน และอยากให้ปรับแก้อะไรเพิ่มเติม
ในขณะเดียวกัน เราควรสังเกตช่องทางหารายได้ใหม่ของธุรกิจคู่แข่งด้วย เพราะถ้าคู่แข่งกำลังนำเสนอสินค้าบริการที่ใกล้เคียงกับไอเดียใหม่ของเรา เราก็ควรเพิ่มความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการของตัวเองมากยิ่งขึ้น
2 ตัวอย่างการหาช่องทางรายได้ใหม่ เริ่มต้นไม่ยาก
-
ลองทำแคมเปญร่วมกับแบรนด์ที่สนใจ
แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กก็สามารถสร้างแคมเปญร่วมกับแบรนด์ SME อื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน โดยลองใช้ความกล้าติดต่อไปหาแบรนด์ที่สนใจ เล่าไอเดียที่อยากทำให้ฟัง รวมถึงบอกว่าแบรนด์ที่มาร่วมมือกันจะได้รับประโยชน์อย่างไร
ตัวอย่างเช่น ถ้าเปิดร้านขายอาหารคลีน เราอาจทำแคมเปญร่วมกับร้านขายน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ แล้วจัดโปรโมชันให้กับลูกค้าที่อยากซื้อทั้งอาหารและน้ำปั่น เป็นต้น ข้อดีของวิธีนี้คือทั้งสองธุรกิจจะได้แลกเปลี่ยนลูกค้ากัน มีลูกค้าใหม่เข้ามามากขึ้น และเกิดการบอกต่อ
-
เปิดช่อง YouTube เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำเพื่อให้คนทั่วไปรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าทำธุรกิจขายต้นไม้ เราอาจเปิดช่อง YouTube เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อและการดูแลรักษาต้นไม้ไม่ให้ตายเร็ว หรือถ้าขายเสื้อผ้า เราอาจทำคอนเทนต์สอน mix & match เสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ เป็นต้น
วิธีนี้จะช่วยให้มีลูกค้าใหม่ๆ มารู้จักแบรนด์ของเรา และลูกค้าจะรู้สึกเชื่อถือ เพราะทางแบรนด์ดูเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำจนสามารถออกมาให้ความรู้คนทั่วไปได้นั่นเอง
โดยสรุป
การหาช่องทางรายได้ใหม่เป็นวิธีที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ต้องคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนนำเสนอสินค้าบริการอะไรออกไป เพราะบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ที่มา : Score, Businessinsider, Valueprop, Headway
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา