ผลการวิจัยพบ คนที่ติดโควิดก่อนฉีดวัคซีน มีความเสี่ยงเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันและเป็นโรคหลอดเลือดสมองภายหลังตรวจพบเชื้อโควิดเป็นเวลายาวนาน 3 ปี
งานวิจัยล่าสุดนี้ ศึกษาโดย Cleveland Clinic และ University of Southern California วิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพจาก UK Biobank เก็บข้อมูลจากคนที่ติดโควิด 10,005 คน และคนที่ไม่เคยติดโควิดมาก่อนจำนวน 217,730 คน ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนธันวาคม ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีน
การเก็บข้อมูลนี้มีทั้งคนไข้ที่ติดโควิดมีอาการระดับอ่อนๆ และอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 2 เท่าที่จะเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือเสียชีวิต เป็นความเสี่ยงยาวนานถึง 3 ปีหลังวินิจฉัยพบว่าเป็นโควิด
คนที่ติดโควิดและมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular) หรือไม่ได้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจวาย, โรคหลอดเลือดสมอง และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่ไม่ได้ติดโควิด
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม พบว่า กลุ่มคนที่มีกรุปเลือดอื่นที่ไม่ใช่กรุป O หรือคนที่มีเลือดกรุป A, B, AB ล้วนมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองด้วย ถ้าเทียบอัตราความเสี่ยงพบว่า คนที่อยู่ในเลือดกรุป A, B, AB มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าคนเลือดกรุป O ถึง 65%
โดย James Hilser M.P.H., Ph.D.-candidate จาก University of Southern California Keck School of Medicine ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า “เราพบว่า ความเสี่ยงด้านสุขภาพโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาวมีความเกี่ยวพันกับโควิด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการโควิดรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล”
“ความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจวายและเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะยังดำเนินต่อไปเป็นเวลา 3 ปีหลังจากติดเชื้อโควิด ในบางเคส ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (PAD)”
สรุป
งานวิจัยชิ้นนี้ มีการศึกษาสำคัญ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือคนที่ติดโควิดก่อนฉีดวัคซีนและมีอาการหนักจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลมีความเสี่ยงหัวใจวาย เป็นโรคหลอดเลือดสมองและเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด 3 ปี เรื่องที่ 2 คือคนที่มีกรุปเลือด A, AB, B มีความเสี่ยงมากกว่าคนกรุปเลือด O ที่จะเป็นโรคดังกล่าว
ที่มา – Medical Express, American Heart Association
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา