ธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ถึงการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ของไทยจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากเท่าในรอบที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็กังวลถึงกลุ่มที่มีรายได้เปราะบางที่อาจประสบปัญหามากขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมุมมองหลังจากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 โดยมองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีน้อยกว่าการแพร่ระบาดในรอบแรก เนื่องจากความพร้อมด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น พัฒนาการวัคซีนที่กำลังจะทยอยเข้ามาในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ดี ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ยังมองถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จากหลายๆ ปัจจัย
ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยยังกังวลว่า การฟื้นตัวหลังจากนี้นั้นจะมีความต่างกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดยพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 28 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ทางด้านกลุ่มธุรกิจนั้นคาดว่าจะมีธุรกิจรายได้ที่ลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคบริการ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนธุรกิจที่เปราะบางมากขึ้นไปอีก และบางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติม ขณะที่ผลกระทบต่อแรงงาน คาดว่ากลุ่มแรงงานในพื้นที่สีแดงที่มีมาตรการการควบคุมเข้มงวด มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 4.7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันและผู้มีอาชีพอิสระ ที่จะมีชั่วโมงการทำงานลดลงและมีรายได้ลดลงมาก
มุมมองต่างๆ ของธนาคารประเทศไทยที่มองถึงการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้
- ปัจจุบันจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงนั้นมีสัดส่วนมากถึง 3/4 ของกิจกรรมเศรษฐกิจไทย
- ถ้าหากมาตรการควบคุมของรัฐบาลแบบปานกลางใช้ไม่ได้ผล อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้มากถึง 4 จุดของ GDP ไทย แต่ถ้ามาตรการปัจจุบันใช้ได้ผลก็จะกระทบกับ GDP มากสุดเพียงแค่ 1.5 จุดเท่านั้น
- มาตรการช่วยเหลือจะต้องตรงจุดไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางการเงิน
- ธนาคารประเทศไทยมองว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะกลับเข้ามาไทยอีกครั้งช่วงไตรมาส 3 ของปี
- ขณะเดียวกันประชาชนเริ่มออมเงินน้อยลง และเริ่มเห็นความกังวลเรื่องของรายได้หลังจากนี้
- ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย 3 อย่างคือเรื่องการแพร่ระบาดระลอกใหม่ช่วงครึ่งปีหลัง มาตรการจากภาครัฐ การกระจายวัคซีน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา