ลือ กองทุนใหม่ทดแทน LTF คาดถือครอง 7 ปีปฏิทิน เน้นลงทุนหุ้นยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐานรัฐบาล

หลังจากที่ LTF กำลังจะหมดอายุทางภาษีในปีนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกำลังหาแนวทางในการออกกองทุนใหม่ทดแทนแล้ว

ภาพจาก Shutterstock

ในแต่ละปีจะมีเม็ดเงินของ LTF ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณปีละ 70,000 ถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากที่สภาธุรกิจตลาดทุนเปิดเผยว่าเตรียมแผนสองถ้า LTF หมดอายุสิทธิทางภาษี แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนมากเท่าไหร่นัก แต่ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปร่างมากขึ้นแล้ว

ลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้กล่าวถึงกรณีนี้กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า สศค. กำลังหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนใหม่ ซึ่ง Brand Inside คาดว่าน่าจะเป็น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO โดยกองทุนรูปแบบใหม่ที่นำมาทดแทน LTF อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน ได้แก่ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทุน SME ฯลฯ

นอกจากนี้ ลวรรณ ยังได้กล่าวเสริมว่า กองทุนใหม่ยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของ LTF ที่ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่ให้ประโยชน์แก่ผู้ที่มีรายได้สูงมากกว่า ในอดีตนั้น LTF มีไว้เพื่อที่จะต้องการให้นักลงทุนสถาบันเพิ่มมากขึ้นในตลาดหุ้นไทย ขณะเดียวกันยังมีการหารือใน สศค. ว่าถ้าหากไม่มีกองทุนนี้แล้วจะกระทบกับตลาดหุ้นมากแค่ไหน

ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับพิมพ์ได้รายงานโดยอ้างอิงถึงแหล่งข่าวไม่ระบุตัวตน คาดว่ากองทุนใหม่นี้จะมีอายุถือครอง 7 ปีปฎิทิน ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 250,000 บาท จากเดิม 500,000 บาท โดยปีแรกที่เริ่มต้นกองทุนใหม่จะทยอยลดหย่อนภาษีเป็นขั้นบันใดเพื่อที่ป้องกันตลาดเกิดการ Panic คือ 400,000 บาท ลงไปเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 250,000 บาท สินทรัพย์ที่ลงทุนได้แก่ หุ้นเน้นความยั่งยืน กองทุนหรือหลักทรัพย์ประเภทโครงการโครงสร้างพื้นฐานของไทย ธุรกิจ SME รวมไปถึง 10 อุตสาหกรรมใหม่ใน EEC

คาดว่าหลังจากนี้ สศค. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และนำมาประกาศใช้หลังจากอนุมัติ อย่างไรก็ดีเรื่องเงื่อนไขต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ปัจจุบันเม็ดเงิน LTF ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยมีขนาดประมาณ 390,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ