เอาลูกมาหากิน ต้องแบ่งรายได้ให้ลูกด้วย รู้จักกฎหมายที่เกิดขึ้นหลังถูกเรียกร้องให้แบ่งค่าแรงเด็ก

ตอนเด็กๆ คุณเคยช่วยพ่อแม่ทำงานไหม แล้วตอนนั้นพวกคุณได้ค่าแรงกันหรือเปล่า? 

Influencer

ไม่ว่าผู้ปกครองจะให้บุตรหลานมาช่วยงานอะไร การที่เด็กคนหนึ่งจะได้ค่าตอบแทนหรือไม่นั้นก็คงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพวกท่านและความหนักเบาของงาน

แต่ถ้าในกรณีของการนำลูกมาเป็นคอนเทนต์ลงแพลตฟอร์มสาธารณะเพื่อแลกกับเงินล่ะ ตัวเด็กควรจะได้ค่าแรงบ้างหรือเปล่า?

ปัจจุบัน การโพสต์รูปหรือวิดีโอที่ติดหน้าเด็กลงบนโซเชียลมีเดียยังคงเป็นที่ถกเถียงของสังคม เพราะบางส่วนก็มองว่ามันเป็นกิจกรรมครอบครัวที่น่ารัก ในขณะที่บางส่วนก็มองว่ามันเป็นการเอาลูกมาหากินหรือใช้แรงงานเด็กโดยไม่ชอบธรรม

รัฐ ‘อิลลินอยส์’ ประเทศสหรัฐอเมริกาดูเหมือนว่าจะเห็นด้วยกับคนกลุ่มหลัง เพราะล่าสุดทางรัฐได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายสั่งให้ผู้ปกครองต้องแบ่งรายได้จากการโพสต์คลิปให้แก่เด็กๆ ด้วย

ในกฎหมายระบุไว้ว่า หากมีการถ่ายติดใบหน้าของเด็กที่อายุตั้งแต่ 16 ปีลงไปเกิน 30% ของคอนเทนต์ เด็กในวิดีโอจะต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามสัดส่วนเวลาที่พวกเขาปรากฎอยู่ในคลิปนั้น โดยผู้ปกครองจะต้องเก็บเงินส่วนนี้ไว้จนกว่าบุตรหลานจะอายุ 18 ปี ถึงจะค่อยมอบเงินให้เด็กๆ ได้

เรื่องมันเริ่มมาจากเด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจของกฎหมายนี้คือ มันถูกริเริ่มโดยนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ชื่อว่า ‘Shreya Nallamothu’

Nallamothu เป็นคนเข้าไปร้องเรียนกับ ‘Dave Koehler’ สมาชิกวุฒิสภาของอิลลินอยส์ หลังจากเธอได้ดูคอนเทนต์ Vlog ของครอบครัวสายอินฟลูฯ บนยูทูปและติ๊กต่อก แล้วเกิดความคิดว่า “เราไม่มีทางรู้เลยว่าเด็กๆ ในคลิปจะได้รับส่วนแบ่งรายได้บ้างหรือเปล่า ฉันจึงอยากร่วมมือกับคุณ Koehler เพื่อปกป้องสิทธิ์ของเยาวชน”

ฝั่ง Koehler เองก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Fast Company ว่า มาตรการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Jackie Coogan Law’ ซึ่งเป็นกฎหมายปกป้องสิทธิ์ในการครอบครองรายได้ของนักแสดงเด็ก ซึ่งก็มีที่มาจากเรื่องราวของ ‘Jackie Coogan’ ดารารุ่นจิ๋วมากความสามารถผู้ถูกพ่อแม่นำน้ำพักน้ำแรงของตนเองไปใช้เสียจนหมด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Nallamothu ต้องการเรียกร้องประเด็นนี้คือ เธอไปเห็นผู้ปกครองสายอินฟลูฯ คู่หนึ่ง ถ่ายคลิปแกล้งลูกสาวด้วยการหลอกว่าจะเอาหมาที่บ้านไปแจกให้คนอื่น ซึ่งทำให้ Nallamothu รู้สึกแย่มาก เพราะในมุมมองของเธอ เด็กหญิงในคลิปยังคงใสซื่อเกินกว่าจะเข้าใจได้ว่าพ่อแม่กำลังทำอะไรกับตน

ฝรั่งเศสก็มีกฎหมายนี้เช่นกัน

คอนเทนต์ครอบครัวกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้ปกครอง แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่รัฐอิลลินอยส์เท่านั้นที่มีความกังวลต่อเรื่องนี้

ในปี 2020 ประเทศฝรั่งเศสได้ปรับกฎหมายแรงงานเด็กด้วยการเพิ่มขอบเขตอาชีพที่รองรับให้ครอบคลุมถึงสายงานอินฟลูเอนเซอร์ 

โดยรายละเอียดก็คล้ายๆ กันกับกฎหมายของอิลลินอยส์ เพียงแค่มีเงื่อนไขเพิ่มมาว่า “หากรายได้ของเด็กคนหนึ่งเยอะเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายตั้งไว้ บริษัทการตลาดที่เกี่ยวข้องจะเป็นคนดำเนินการฝากเงินให้เอง”

ยิ่งไปกว่านั้น ฝรั่งเศสยังเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวของเด็ก จึงออกกฎหมายมอบสิทธิ์ให้เยาวชนแสดงความจำนงในการลบคอนเทนต์ตนเองออกจากหน้าค้นหาบนอินเทอร์เน็ตได้

หรือจริงๆ แล้วผู้ปกครองไม่ควรเอาลูกมาทำคอนเทนต์ตั้งแต่แรก?

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจเริ่มสงสัยว่า หรือจริงๆ แล้วผู้ปกครองไม่ควรเอาลูกมาทำคอนเทนต์ตั้งแต่แรก เพราะนอกจากจะมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมของรายได้ ยังอาจส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวอีกด้วย?

ทว่า ในปัจจุบันยังคงไม่มีงานวิจัยไหนที่สามารถชี้ชัดได้ว่าการนำลูกมาเป็นคอนเทนต์จะส่งผลร้ายอย่างไรบ้าง แต่ถ้าใครยังเป็นกังวล ทางสำนักข่าว ‘The Economic Times’ ได้ให้คำแนะนำถึงบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ไว้ดังนี้

  1. อย่าลืมปิดรายละเอียดหรือชื่อสถานที่ในคอนเทนต์
  2. ตั้งเงื่อนไขในการโพสต์รูป วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวของลูกกับคนอื่นๆ ในครอบครัว รวมถึงคนใกล้ชิด
  3. อย่าลืมคิดด้วยว่าถ้าโพสต์ไปจะส่งผลกระทบกับอนาคตของเด็กไหม
  4. นึกไว้เสมอว่าทุกอย่างที่ถูกเผยแพร่ลงออนไลน์แล้ว จะอยู่บนอินเทอร์เน็ตติดไปกับเด็กตลอดชีวิต
  5. คิดด้วยว่าลูกจะโอเคไหมหากเพื่อนๆ ที่โรงเรียนหรือที่ทำงานในอนาคตเข้ามาเห็นคอนเทนต์เหล่านี้
  6. พยายามหลีกเลี่ยงคอนเทนต์ที่อาจโชว์รูปร่างของเด็กมากเกินไป หรืออาจทำให้เด็กเกิดความอับอายได้ เช่น คลิปสอนลูกนั่งกระโถน

แหล่งอ้างอิง: Quartz / On Labor / The Economic Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา