ซื้อรถใหม่รอก่อน! สคบ. คุมสัญญาเช่าซื้อรถฯ ปี 2566: กำหนดเพดานดอกเบี้ย เพิ่มส่วนลดปิดบัญชี ลดเบี้ยปรับ และปรับวิธีคิดติ่งหนี้

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับหลังวันที่ลงประกาศ 90 วัน โดยสัญญาเช่าซื้อรถฯ ที่ทำใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ต้องถือปฏิบัติตามจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำกับดูแลธุรกิจให้เช่าซื้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว และอาจเห็นความคืบหน้าในช่วงต้นปี 2566  

ภาพจาก Shutterstock

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง 4 ประเด็นสำคัญของประกาศ สคบ. ฉบับนี้ มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการเช่าซื้อที่ลดลงในระดับที่แตกต่างกัน อันเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อถึงการปรับตัวของผู้ให้บริการเช่าซื้อ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ดังนี้ 

  • กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับการให้เช่าซื้อรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว และรถจักรยานยนต์: ซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้างที่สุดและเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถฯ ที่คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR) ต้องไม่เกินร้อยละ 10, 15 และ 23 ต่อปีตามลำดับ ซึ่งเมื่อคำนวณกลับเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) อยู่ที่ระดับประมาณไม่เกินร้อยละ 5.5, 8.5 และ 12.5 ต่อปีตามลำดับ โดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะแปรผันตามขนาดการวางเงินดาวน์ และระยะเวลาที่เลือกผ่อนชำระเป็นสำคัญ ดังนี้ 

ทั้งนี้ สคบ. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคิดดอกเบี้ย โดยปัจจุบันแม้ว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) ในการคำนวณค่างวด แต่มีการตัดชำระหนี้แบบลดต้นลดดอก (Amortize) โดยมีการจัดทำตารางแสดงภาระหนี้เป็นรายงวดซึ่งระบุการตัดเงินต้นและดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกับวิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกของสินเชื่อบ้าน ดังนั้น การใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ในการคำนวณค่างวดบนฐานวงเงินกู้ยืมเต็มจำนวนตลอดสัญญา จึงไม่เป็นช่องทางในการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคแต่อย่างใด

  • เพิ่มอัตราส่วนลดดอกเบี้ยกรณีปิดบัญชีล่วงหน้า: ซึ่งหากผู้บริโภคใช้สิทธินี้ จะส่งผลกระทบให้ผู้ให้บริการเช่าซื้อมีรายได้ดอกเบี้ยลดลง และกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปีที่ลดลงต่ำกว่าความคาดหมายเมื่อแรกปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การเพิ่มส่วนลดปิดบัญชีล่วงหน้าจึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้ให้เช่าซื้อรถฯ ที่มีลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงิน 

  • ลดเบี้ยปรับผิดนัดชำระค่างวด: ช่วยลดภาระรายจ่ายให้ผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระค่างวด แต่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อรถฯ ได้รับเบี้ยปรับผิดนัดชำระลดลงตั้งแต่ 0-10% เนื่องจากประกาศใหม่ กำหนดเบี้ยปรับเป็นอัตราเดียวที่ไม่เกิน 5% ของยอดเงินที่ผิดนัดชำระ จากเดิมที่ให้คิดเบี้ยปรับได้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสัญญาบวก 3% แต่ไม่เกิน 15% (ปัจจุบัน – สัญญาเช่าซื้อรถที่มีดอกเบี้ย EIR ต่ำประมาณ 2% ต่อปี หากผิดนัดชำระค่างวด ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยปรับ 5% ซึ่งเท่ากับประกาศ สคบ. ฉบับใหม่ แต่ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อมีดอกเบี้ย EIR สูงและเดิมเก็บเบี้ยปรับได้ 15% ภายใต้ประกาศฯ ใหม่ จะเก็บเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 5% หรือลดลง 10%) 
  • ปรับการคิดติ่งหนี้ หรือหนี้ส่วนที่ขาดหลังการขายทอดตลาด: โดยกำหนดเกณฑ์การคิดติ่งหนี้ ให้ลูกหนี้รับภาระเฉพาะเงินต้นสำหรับค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ รวมกับค่างวดที่ค้างชำระ (เงินต้นและดอกเบี้ย) และค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อก่อนมีการบอกเลิกสัญญา หรืออีกนัยหนึ่งคือเสมือนกับได้รับยกเว้นดอกเบี้ยจากการปิดบัญชีล่วงหน้า ซึ่งประกาศฯ เดิมปี 2561 ระบุว่าไม่ได้รับสิทธินี้ 

ประกาศ สคบ. ฉบับนี้ เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง ดังนั้น หากไม่นำปัจจัยอื่นมาประกอบ เช่น ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ความจำเป็นต้องใช้รถ เป็นต้น การทำสัญญาเช่าซื้อรถฯ ในปีหน้า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่มีต่อผู้ให้บริการเช่าซื้อรถฯ จากประกาศฉบับนี้ ค่อนข้างกว้างขวางและกระทบกับผู้ให้บริการทุกกลุ่ม ในระดับที่แตกต่างกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถฯ อาจมีการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญ และอาจกระทบต่อกระบวนการให้สินเชื่อ รวมถึงโอกาสในการได้รับสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่ม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม 

ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ ขอบเขตการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้ประกาศ สคบ. ฉบับใหม่ ยังคงจำกัดเฉพาะผู้เช่าซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดา และใช้รถเป็นการส่วนตัวเท่านั้น ไม่รวมถึงการนำรถไปใช้รับจ้าง หรือใช้ในธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มที่อยู่นอกขอบเขตการคุ้มครองของ สคบ. คงเป็นกลุ่มที่ต้องรอการผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำกับดูแลผู้ให้บริการเช่าซื้อ โดยไม่แบ่งแยกว่าผู้เช่าซื้อมีสถานะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล หรือใช้รถเพื่อวัตถุประสงค์ใด 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา