รวมความกังวลใจจาก “ร่าง พ.ร.บ. คอมพ์” ฉบับใหม่ ที่มีผลกระทบกับภาคธุรกิจแน่นอน

Brand Inside ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ ชาคริต จันทร์รุ่งสกุล เกี่ยวกับผลกระทบจาก ร่าง พ.ร.บ. คอมพ์ ฉบับใหม่ต่อภาคธุรกิจไปแล้ว ก็ขอต่อกันด้วยการรวบรวมข้อคิดเห็นจากคนออนไลน์บนโลกโซเชียล มาให้ได้อ่านเป็นแนวคิดเพิ่มเติมกันอีก ซึ่งหวังว่าจะมีผลให้ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสมาคมฯ ต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากกว่านี้

เพราะถ้า ร่างกฎหมายที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 3 นี้มีผลกระทบจริง เชื่อว่า ภาคธุรกิจ จะได้รับผลกระทบก่อนแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นด้านล่างนี้ เป็นไปตามร่าง พ.ร.บ. ซึ่งอาจมีการปรับปรงแก้ไข ดังนั้นโปรดใช้วิจารณญาณ

ภาคธุรกิจ องค์กรใหญ่รับผลกระทบก่อน

“สตาร์ทอัพผัดเป็ด” หนึ่งใน Facebook Page ที่หยิบยกเรื่องราวสตาร์ทอัพมาเปิดเผยได้แบบถึงพริกถึงขิง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ผลกระทบที่จะเกิดจาก “อำนาจ” ของเจ้าหน้าที่ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือสั่งให้ “ผู้ให้บริการ” ทำการ decrypt หรือถอดรหัสข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในการใช้บริการ

ประเด็นดังกล่าว ยังเชื่อมโยงถึง คำจำกัดความของคำว่า “ผู้ให้บริการ” ที่ต้องดูแลข้อความและข้อมูลทุกอย่างที่ปรากฎบนแพลตฟอร์มที่ให้บริการอย่างดีที่สุด เพราะถ้าเฝ้าระวังไม่ละเอียด อาจจะตกเป็นจำเลยอีกคนหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ ภาคธุรกิจ เช่น เว็บบอร์ด หรือ เว็บฝากไฟล์ต่างๆ มีความเสี่ยงทันที และต้องมีค่าใช้จา่ยในการดูแลฐานข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เพื่อป้องกันความผิดที่จะเกิดขึ้น

สุดท้ายสิ่งที่ต้องการความชัดเจน คือ ภาคเอกชน ตัวแทนที่จะมาเป็นคณะกรรมการตาม ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะเป็นใคร และจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อย่างไร

ปรเมศวร์ มินศิริ

ย้อนรำลึก พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 ภาคเอกชนเสนอปรับปรงสำเร็จ

ปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บ Kapook.com อดีตนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้โพสต์ข้อความใน Facebook เล่าสถึงอดีตในปี 2549 ว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารผลักดัน ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เข้าสู่สนช.โดยหวังจะให้ผ่าน 3 วาระรวด ทางสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยได้จัดทำจดหมายเปิดผนึก พิมพ์สี่ร้อยชุด ผมในฐานะนายกสมาคมฯ ในสมัยนั้น นำทีมไปยืนแจกเอกสารให้สนช.ทุกคนที่หน้ารัฐสภา และได้เดินชี้แจงกับทางสนช.ที่มาถึงก่อนตั้งแต่ช่วงเช้า จนเที่ยงกว่าๆ ทางรมต.ไอซีทีในตอนนั้นได้ออกมาพบและเจรจากัน

วันนั้น พ.ร.บ.คอมฯ จึงผ่านแค่วาระแรก เพราะสนช.หลายคนมีข้อมูลในมือและมีเราไปบริฟให้ฟังจึงอภิปรายข้อเสียในสภาได้ชัดเจน การตั้งกรรมาธิการเพื่อแก้ไขมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย ใช้เวลาอีกราวหนึ่งปีจึงได้ออกมาเป็น พรบ.คอมฯ พศ. 2550

มาถึงวันนี้ หาก ร่าง พ.ร.บ. คอมพ์ ผ่านวาระ 3 สิ่งที่จะเกิดคือ เว็บไซต์พวกดูหนังออนไลน์ การ์ตูน ฝากไฟล์ โหลดบิต ฯลฯ ถ้าไม่ถูกลิขสิทธิ์ จะสามารถถูกสั่งบล็อคได้ทั้งหมด รวมถึงเว็บที่ถูกพิจารณาว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย ขั้นตอนคือให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 คน ทำรายชือเว็บเหล่านี้ส่งให้ รัฐมนตรี ร้องขอต่อศาล

ยังขาดความเคลื่อนไหวอีกมาก โดยเฉพาะจากสมาคมฯ

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากกลุ่มคนออนไลน์อีกหลายคน ที่แสดงความกังวลใจว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่เรื่อง Single Gateway หรือการดักฟังข้อมูล แต่เป็นเรื่องของ “อำนาจ” ที่มากเกินไปและอยู่บน “ความคลุมเครือ” ที่มอบให้ คณะกรรมการ จำนวน 5 คน และต้องใช้คำว่า “เชื่อใจ” โดยไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลัง บันทึกการดำเนินการ หรือฟ้องร้องกลับ กรณีเกิดความเสียหาย

ในอดีตสมาคมต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืน ยื่นหนังสือคัดค้านหรือเสนอความเห็น ในครั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. กำลังจะถูกเสนอเข้าพิจารณาวาระ 3 แล้ว (วันที่ 16 ธ.ค.) แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการจากภาคเอกชนออกมาแต่อย่างใด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา