เมื่อปี 2560 มูลค่าตลาด “กาชาปอง” ในญี่ปุ่นนั้นประมาณ 30,000 ล้านเยน (ราว 8,600 ล้านบาท) และเติบโตขึ้นตลอดผ่านการเติมของเล่นใหม่กว่า 150 ชิ้น/เดือน แต่ปัจจุบันการบิดกาชาปองมันได้มากกว่าของเล่นแล้ว
กาชาปอง กับของเล่นที่ไม่สิ้นสุด
“กาชาปอง” เป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น สังเกตจากหลากหลายพื้นที่มักมีตู้แบบนี้ติดตั้งอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่าตู้กาชาปองเหล่านี้ไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในญี่ปุ่น แต่เป็นคนญี่ปุ่นนามว่า Ryuzo Shigeta ที่นำตู้หยอดเหรียญแล้วหมุนได้ของเล่น หรือขนมแบบสุ่มมาจากสหรัฐอเมริกามาให้บริการตั้งแต่ต้นปี 2500
สำหรับช่วงแรกนั้นเขาคิดราคาที่ 10 เยน/ครั้ง แต่ด้วยในเครื่องมันมีทั้งขนม และของเล่น ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปมันก็แห้งติดกันระหว่างขนม หรือของเล่น ทำให้ชายผู้เรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งกาชาปองจึงนำขนม และของเล่นในเครื่องมาใส่ลูกบอลพลาสติกใสที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นถึงปัจจุบันนี้
หลายคนที่ไปญี่ปุ่นน่าจะรู้กันว่าการหยอดกาชาปองในตอนนี้มีตั้งแต่ 100-500 เยน และการเล่นเหล่านี้เองทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมกาชาปองในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2560 อยู่ที่ 30,000 ล้านเยน (ราว 8,600 ล้านบาท) ผ่านจำนวนเครื่องที่น่าจะมากกว่า 5 แสนตู้ โดยมี Bandai เป็นผู้ครองส่วนแบ่งมากที่สุด หรือราว 70% ของทั้งหมด
3 ช่วงแห่งความนิยมสูงสุดของกาชาปอง
ส่วนช่วงความนิยมของกาชาปองในญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งได้ 3 ช่วงด้วยกันคือช่วงแรกในปี 2526 เพราะตอนนั้น Bandai ได้จำหน่าย Kinniku Man Keshigomu หรือยางลบคินิคุแมนที่มีให้เลือกกว่า 400 แบบ โดยในเวลานั้นสามารถขายได้ถึง 180 ล้านชิ้นเลยทีเดียว
ช่วงที่สองในช่วงกลางทศวรรษ 90s (พ.ศ.2533-2542) ผ่านการมาของของเล่นหลากหลายพร้อมสีสัน และรายละเอียดแต่ละชิ้นส่วนที่มากกว่าเดิม เช่น SD Gundum และตัวการ์ตูนอื่นๆ ทำให้กลุ่มผู้ใหญ่เริ่มให้ความสนใจมาหยอดเหรียญเพื่อหมุนแลกของเล่นกันมากกว่าเดิม
สุดท้ายคือช่วงที่ 3 ในปี 2556 ที่การ์ตูน Yokai Watch เปิดตัวโดยเริ่มต้นจากการเป็นเกมในเครื่อง Nintendo 3DS และถึงตอนนี้ก็ยังเติบโตอยู่เรื่อยๆ แถมยังมีความซับซ้อนของสินค้าภายในลูกบอล ไม่ว่าจะเป็นหุ่นที่มีข้อต่อ 24 ชิ้น หรือสามารถปล่อยแสง LED ออกมาได้ แถมกลายเป็นสิ่งสำคัญที่นักท่องเที่ยวต้องไปหยอดเล่นสักครั้ง
มากกว่าของเล่น และขนม คือจดหมายรัก
ล่าสุดมีตู้กาชาปองที่นาโงย่าเปิดให้ผู้สนใจมาหยอดเหรียญทั้งหมด 200 เยน เพื่อลุ้นรับจดหมายรักจากน้องสาวแท้ๆ แถมเป็นจดหมายรักที่เขียนด้วยมือทั้งหมดอีกด้วย เรียกได้ว่าฟินไปเลยกับโอตาคุที่นิยมอยู่ในโลกสองมิติ (รับชมอนิเมะ หรืออ่านนิยาย และการ์ตูน) รวมถึงคนที่แอบมีความรักในลักษณะนี้อยู่
ตัวอย่างจดหมายที่เปิดได้จะมีข้อความยาวๆ เช่น “พี่คะ… อย่าบอกคนอื่นนะว่าหนูแอบเขียนจดหมายมาหาพี่” หรือข้อความแนวสึนเดเระ หรือปากไม่ตรงกับใจเช่น “อย่าหยุดมองหนูนะ ถ้าหยุดหนูจะไม่ให้อภัยพี่เลย…” สร้างความรู้สึกหวานปนขมที่บางคนอาจเคยรู้สึกแบบนี้
これ以上におもろいガチャガチャある??wwwww pic.twitter.com/bewc0mPc1t
— ばる@が (@baru_san12345) May 5, 2019
ทั้งนี้การทำตู้กาชาปองที่ข้างในบรรจุลูกบอลที่มีจดหมายรักจากสาวๆ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีตู้กาชาปองที่บรรจุจดหมายรักจากเพื่อนผู้หญิงที่โรงเรียน และเป็นจดหมายรักเขียนด้วยมือเช่นเดียวกัน ซึ่งตู้ลักษณะนี้เป็นตู้กาชาปองแนวแปลก และยังมีตู้แนวนี้อีกมากในญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน
สรุป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าใครไปญี่ปุ่นต้องไปลองหยอดเหรียญที่ตู้กาชาปอง เพราะมันแทบจะเป็นวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยว แถมเป็นเรื่องที่ชาวญี่ปุ่นแท้ๆ ยังชื่นชอบความสนุกในรูปแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นโอกาสที่ตลาดกาชาปองจะเติบโตเกิน 8,600 ล้านบาทก็น่าจะมีสูง และคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอน
อ้างอิง // Soranews24, Japan Times, ภาพปกจาก Twitter ของ TadashiOrisbc3
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา