ดุสิตธานีโฉมใหม่ “Dusit Central Park” มิกซ์ยูสใจกลางเมือง รวมห้างฯ-ออฟฟิศ-โรงแรม-คอนโดในที่เดียว

เมื่อโรงแรมดุสิตธานีบนทำเลทองย่านสีลม-พระราม 4 ประกาศปิดให้บริการเมื่อ 5 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา และจะพัฒนาเป็นโครงการใหม่ชื่อ “Dusit Central Park” ที่มีทั้งโรงแรม-คอนโด-ศูนย์การค้า-ออฟฟิส

Dusit Central Park

“Dusit Central Park” มิกซ์ยูสใจกลางเมืองมีอะไรบ้าง?

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC บอกว่า ดุสิตธานี ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)  หรือ CPN ร่วมทุนและตั้ง บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ขึ้นมา (ดุสิตธานี ถือหุ้น 60% และ CPN ถือหุ้น 40%) เพื่อพัฒนา “Dusit Central Park” เป็นโครงการ Mixed-use โดยมี 4 โครงการย่อยได้แก่

  • โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สูง 39 ชั้น จำนวนห้องพัก 250 ห้อง คอนเซ็ปต์เดิมเน้นเรื่องความเป็นไทย โดยมี ยอดชฎาสีทอง สัญลักษณ์เดิมของโรงแรม  ออกแบบใหม่ไว้บนดาดฟ้า
  • ที่พักอาศัย แบ่งเป็น 2 แบรนด์ ได้แก่ Dusit Residences ที่เป็นห้องชุด 2-4 ห้องนอนและเพนท์เฮ้าส์ พื้นที่ 120-600 ตรม. จำนวน 159 ยูนิต (ชั้น 30-69) Dusit Parkside ห้องชุด 1-2 ห้องนอนขนาด 60-80 ตรม. จำนวน 230 ยูนิต อยู่ชั้นที่ 9-29 (คาดว่ามูลค่าราคาขายรวม 16,000-17,000 ล้านบาท)
  • ศูนย์การค้า Central Park พื้นที่ 80,000 ตรม.
  • สำนักงาน Central Park Offices ตึกสูง 43 ชั้น พื้นที่รวม 90,000 ตรม.
Dusit Central Park

ทั้งนี้โครงการ Dusit Central Park ใช้พื้นที่ 23 ไร่ โดยใช้งบลงทุน 36,700 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 2565 จะเปิดให้ให้บริการโรงแรมก่อน หลังจากนี้เปิดตัวโซนพักอาศัย และจะเปิดให้บริการครบทุกโครงการภายในปี 2566

“เป้าหมายของดุสิตธานีคือการสร้างโรงแรมของคนไทยที่มีมาตรฐานสากล และสร้างแลนมาร์คของกรุงเทพ แต่ตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงทุกที่ ทั้งการจราจรและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ยิ่งโรงแรมที่สร้างมากว่า 50 ปี จะรีโนเวทโรงแรมอย่างเดียว

ดังนั้นเมื่อพื้นที่เดิมมีศักยภาพ ทำให้เราต้องมองหาอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การสร้างที่พักอาศัยสำหรับคนที่ต้องการใช้บริการของดุสิต หรือ ธุรกิจ Retail ที่โลเคชั่นของโรงแรมสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนที่เดินทางด้วย BTS และ MRT ได้ เราจึงหาพาร์ทเนอร์ CPN เข้ามาร่วมกัน”

Dusit central park

ดุสิตจะแข่งกับ Mixed-use ที่เกิดขึ้นในถนนพระราม 4 อย่างไร?

เดิมโรงแรมดุสิตธานีมีพื้นที่ 18 ไร่ แต่มีพื้นที่ใช้สอย 100,000 กว่าตรม. หลังจากการพัฒนาเป็นโครงการ Dusit Central Park จะมีพื้นที่เป็น 23 ไร่ และมีพื้นที่ใช้สอยรวม 400,000 ตรม. เพราะใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งบนดินและใต้ดิน

จุดเด่นโครงการนี้คือทำเลหัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 สามารถเชื่อมโยงกับถนนหลายเส้น เช่น สุขุมวิท เชื่อมโซน CBD ราชประสงค์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเชื่อมกับรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT รวมถึงตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ต้องการสีเขียว คืออยู่ใกล้สวนขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อย่างสวนลุมพินี

สำหรับส่วนที่พักอาศัย (Residence) จุดเด่นคือเป็น Leasehold ที่สามารถเช่าระยะยาว 60 ปี (ตามกฏหมายกำหนดให้เช่าได้สูงสุด 30 ปี ดังนั้น Dusit Central Park จะให้ลูกค้าทำ 2 สัญญาในครั้งเดียวยาว 60 ปี) ทำให้ราคาเข้าถึงง่ายกว่าการซื้อคอนโด ที่สำคัญสามารถขายชาวต่างชาติได้มากขึ้น (ตามกฎหมายคอนโดมิเนียมสามารถขายให้ชาวต่างชาติไม่เกิน 49% ) นอกจากนี้ยังมีที่จอดรถเกิน 100%

ทั้งนี้รายได้โครงการจะมาจากทั้ง 4 โครงการ อาทิ ส่วนโรงแรมแม้จำนวนห้องจะลดลงเหลือ 250 ห้อง (จากเดิม 500 ห้อง) แต่เนื่องจากห้องกว้างขึ้น ราคาห้องก็เพิ่มสูงขึ้น และยังมีรายได้จาก Retail และส่วน Office เพิ่มขึ้น

Dusit Central Park

ทำไมต้องร่วมมือกับ CPN

วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN บอกว่า ทาง CPN เริ่มต้นสร้าง Mixed-use ที่แรกคือ เซ็นทรัลลาดพร้าว ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า และออฟฟิส ที่สำคัญเชี่ยวชาญเรื่อง Retail

“แม้ธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันสูง ทำให้เราต้องปรับตัวเองให้เข้าถึงคนได้มากที่สุด โดย CPN จะบริหารโครงการ Central Park Offices ส่วนโครงการอื่นจะบริหารร่วมกับดุสิตธานี”

สรุป

เมื่อพื้นที่ใจกลางเมืองมีน้อยลงทุกที โรงแรมดุสิตธานีที่สร้างมาเกือบ 50 ปีถึงเวลาต้องปรับพื้นที่ เพิ่มมูลค่า และปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไลฟ์สไตล์ของคนต้องการมากกว่าโรงแรม แต่ต้องสามารถใช้ชีวิตได้ทั้งสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ศูนย์การค้า ที่พักอาศัย ออฟฟิศ แต่จะแข่งกับ Mixed-use อีก 2-3 โครงการที่อยู่บนถนนพระราม 4 ได้หรือไม่คงต้องจับตาให้ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา