พื้นที่สาธารณะนับว่าเป็นจุดอันตรายที่อาจมีเชื้อโรคโควิด-19 หรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่ตามองไม่เห็นสะสมอยู่โดยไม่รู้ตัว รวมถึงห้องน้ำสาธารณะด้วย
ที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเคยมีการศึกษา พบว่ามีการพบเชื้อโควิด-19 ในอุจจาระของผู้ป่วย (ต่อไปจะใช้คำว่า “ของเสีย” แทน) และแม้ผู้ป่วยจะรักษาจนหายแล้ว (ผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ) แต่ก็ยังพบเชื้อโควิด-19 ในของเสียต่อไปเป็นเวลากว่า 33 วัน
การพบเชื้อโควิด-19 ในของเสียของผู้ป่วยถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะผู้ป่วยบางคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโควิด-19 เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แสดงเลย ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญเคยทำการศึกษาพบว่า เศษละอองของเสียขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถกระจายไปในอากาศได้ไกลกว่า 6 ฟุต หรือ 1.8 เมตร ทุกทิศทุกทางในขณะที่กดชักโครก นอกจากนี้เชื้อโควิด-19 บนวัสดุผิวเรียบและแข็ง เช่น สแตนเลส สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 3 วัน
การออกแบบห้องน้ำสาธารณะส่วนใหญ่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อโควิด-19 จากของเสียจะแพร่กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะผนังที่กั้นห้องน้ำแต่ละห้อง ไม่ได้ออกแบบให้ปิดมิดชิด แต่จะเว้นช่องว่างที่พื้นและที่เพดานเอาไว้เพื่อการระบายอากาศ ทำให้เศษละอองของเสียที่กระจายออกมาขณะที่กดชักโครก กระจายไปยังห้องน้ำห้องข้างๆ ด้วย
ทางออกที่ดีที่สุดคือ การปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดชักโครกเพื่อช่วยป้องกันการกระจายของเศษละอองของเสีย แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า หลายๆ คนไม่ปิดฝาชักโครก เพราะพยายามหลีกเลี่ยงการจับฝาชักโครกในห้องน้ำสาธารณะ เนื่องจากไม่มั่นใจในความสะอาด
ออกแบบห้องน้ำใหม่ เพิ่มความมั่นใจให้คน
Erin Lilly ผู้จัดการฝ่ายออกแบบของ Kohler เล่าว่า ในอนาคตจะมีการออกแบบห้องน้ำที่ใช้วัสดุที่ไม่มีสิ่งสกปรกสะสม และทำความสะอาดได้ง่ายกว่าเดิม หรือแม้แต่ต้องออกแบบห้องน้ำโดยใช้สัมผัสของคนน้อยที่สุด
โดยเฉพาะระบบชักโครก และก็อกน้ำอัตโนมัติ ที่ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เมื่อใช้ห้องน้ำเสร็จแล้วชักโครกจะกดน้ำเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสกับปุ่มกดหรือก็อกน้ำแต่อย่างใด
ส่วนทางด้าน American Standard คาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีความต้องการเลือกใช้อ่างล้างมือที่มีความลึกของอ่างมากขึ้น รวมถึงองศาการลาดเอียงที่มากขึ้นเพื่อช่วยการระบายน้ำ ซึ่งจะสามารถลดน้ำที่อาจกระเด็นออกมานอกอ่างขณะล้างมือ เพราะน้ำที่กระเด็นออกมาอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ โดยอ่างน้ำที่มีความลึกมากกว่าปกติ นิยมใช้ในห้องผ่าตัดอยู่แล้ว
นอกจากนี้ส่วนที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น มือจับประตูห้องน้ำก็เป็นจุดที่อาจมีเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ได้ ซึ่งการออกแบบห้องน้ำให้มีมุมอับสายตา บังส่วนของโถสุขภัณฑ์และโถปัสสาวะ จะช่วยลดการใช้ประตูซึ่งเป็นจุดที่ต้องสัมผัสบ่อยที่สุดออกไปได้
ประเด็นด้านความสะอาดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาเช่นเดียวกัน บางครั้งการออกแบบห้องน้ำใหม่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้นอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการทำความสะอาดคือสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะห้องน้ำสาธารณะที่ควรทำความสะอาดเป็นประจำ
ที่มา – Fast Company, Medscape
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา