คุยกับชาวบ้านย่านห้วยขวาง: ทุนจีนบุกไทย พร้อมทุ่มไม่อั้น ค่าตึกแพงขึ้นจาก 4-5 ล้านสู่ 17 ล้านบาท

บทความโดยพิชญา แขวงสุคนธ์ทิพย์ และปาริชาติ โชคเกิด 

ทุนจีนบุกไทย พร้อมทุ่มไม่อั้น เพื่อซื้อ/เช่าตึก รีโนเวตทำธุรกิจ

หลังจากที่มีข่าวทุนจีนบุกไทยและห้วยขวางถูกตีตราไปแล้วเรียบร้อยว่าเป็นย่านอาณานิคมใหม่ของจีน วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จากคุณป้าที่ทำอาชีพค้าขายย่านห้วยขวางและประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้น มาดูกันว่า เขามองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

คนจีนมาอาศัยอยู่แถวห้วยขวางมหาศาล เขาเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบแค่ไหน? มุมมองห้วยขวางจากสมัยก่อน ถึงช่วงโควิดระบาด จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงมากน้อยอย่างไร?

Huai Khwang

นิภา สุขทัศน์ อายุ 64 ปี
เจ้าของร้านโอเล่กิฟท์ช็อป เปิดร้านมาแล้ว 20 อาศัยอยู่ย่านห้วยขวางยาวนานกว่า 42 ปี

วิไลพร เจริญยิ่ง อายุ 61 ปี
อดีตผู้ช่วยเภสัชกร ข้าราชการเกษียณ

นิภาเล่าว่าเธอขายของย่านนี้มานานแล้ว “ร้านนี้เปิดมานานเกิน 20 ปีแล้ว สินค้าที่ขายส่วนใหญ่ก็เป็นของกิฟท์ช็อป มีด้าย ไหมพรม เครื่องเขียน ของจิปาถะ ร้านเราขายของเยอะ มันไม่แน่ไม่นอน แล้วแต่ลูกค้าจะมุ่งหน้ามาซื้ออะไร เพราะว่าเราขายสรรพเพเหระ อาศัยได้ขายเพราะขายหลายอย่างนี่แหละเพราะว่าตลาดช่วงนี้ก็เงียบ เงียบมาตั้งแต่โควิดเลย โอ้โห เงียบจนแบบบางวันจะไม่ค่อยได้ขาย แต่อาศัยขายหลายอย่างก็ยังพอได้หยิบจับบ้างแค่นั้นเอง”

“ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านโอเล่กิฟท์ช็อปมักจะเป็นคนไทย นักเรียนไทย เพราะทำเลอยู่ใกล้โรงเรียนจันทร์หุ่น ประชาราษฎร์ คนส่วนใหญ่ถ้าเป็นต่างชาติจะเข้ามาซื้อของใช้ เพราะเขาย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ก็จะมาซื้อของใช้ พวกไม้กวาด ไม้ถูพื้น ที่เขาจะต้องใช้”

ความเปลี่ยนแปลงของย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง

สมัยก่อน เมื่อครั้งที่ยังไม่มีการตัดถนนรัชดาภิเษก ย่านห้วงขวางเป็นพื้นที่ที่มีแต่ป่าและบึง ร่มรื่น การจราจรไม่ติดขัดเท่าปัจจุบัน ไม่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นขนาดนี้มาก่อน สมัยก่อนราคาค่ารถโดยสารก็ถูกมาก บรรยากาศโดยรวมในยามค่ำคืนนั้นเงียบสงบ

[อ่านบทสนทนา เล่าบรรยากาศความเปลี่ยนแปลงย่านห้วยขวาง ด้านล่าง]

วิไลพร: มาอยู่นี่ตรงซอย 11 เนี่ย เมื่อก่อนเนี่ยแถวเนี่ยพอเข้าซอยไปแถวนี้ยังไม่มีอะไร ยังเป็นป่าอยู่เลย เป็นบึงอะไรอย่างนี้
นิภา: เนี่ยตรงข้ามที่เป็นร้านขายยาเนี่ยยังเป็นป่า เป็นดงกล้วยอะไรเยอะแยะไปหมด
วิไลพร: เออ เข้าไปเนี่ยเป็นดง เป็นป่าทั้งนั้นแหละ ต้องหน้าอพาร์ทเมนท์หนู แต่ก่อนเนี่ยเป็นดงกระถิน เดี๋ยวนี้เป็นบ้านหลังเบ้อเร่อเบ้อเท่อ ตอนที่มาอยู่ใหม่ ๆ น่ะโอ้โห ลมเย็นมาก
นิภา:
 แล้วก็ถนนรัชดาด้วย ตอนนั้นก็ยังไม่มี
วิไลพร: ใช่ๆ
นิภา:
รถสองแถววิ่งแค่คนละบาท คนละสลึง ใหม่ ๆ เลยมาอยู่อะคนละบาท
วิไลพร: สมัยนี้แปดบาท เมื่อก่อนมาอยู่ในซอยคนละ 6 สลึงมั้งซูบารุ ในซอยหนูเนี่ย ซอย 9 วิ่งวนออกซอย 11
นิภา:
มาจอดรอรับลูกค้าตรงเนี้ย คนละ 6 สลึง
วิไลพร: ถูกจะตาย เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว
นิภา: ใช่ แล้วถนนมันไม่แออัดกันขนาดนี้ พอตกเย็นนะโอโห รถว่างเลย
วิไลพร: ใช่ พอใกล้ค่ำอะเนอะ เงียบ

new Chinese Capitalist

มุมมองต่อผู้ประกอบการชาวจีน และการทำธุรกิจของคนจีน

ทั้งนิภาและวิไลพรต่างมองว่าการเข้ามาอยู่อาศัยของคนจีนทำให้ย่านห้วยขวางมีบรรยากาศที่คึกครื้นมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากการมีอยู่ของคนจีน เนื่องจาก พวกเธอต่างรู้สึกว่าทั้งคนไทยและคนจีนย่านนี้ ต่างคนต่างอยู่ ต่างก็มีชีวิตของตัวเอง ร้านอาหารจีนส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการอยู่นั่น ก็มักจะมีแต่คนจีนด้วยกันที่ไปใช้บริการกันเอง เธอมองว่าร้านหม่าล่าส่วนใหญ่ที่เปิดอยู่ก็มีแต่คนจีนไปนั่งทาน เธอเคยคิดจะลองก็ไม่กล้า เพราะกลิ่นโหระพาแรงมาก

ส่วนใหญ่คนจีนที่มาทำมาค้าขายย่านห้วยขวางก็มักจะมีพนักงานเป็นคนเมียนมา บ้างก็เป็นคนจีนหรือคนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่เจ้าของพูดไทยไม่ได้เลย ช่วงที่โควิดระบาดนั้น ธุรกิจย่านนี้ก็แทบเจ๊งกันเป็นแถบ แต่ก็เริ่มกลับมาหลังจากเขาเปิดประเทศ นิภามองว่าหลังเปิดประเทศไม่นาน คนจีนก็ไหลกลับเข้าไทยได้เร็วมาก

ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิดระบาด ราว 3-4 ปี คนจีนก็มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำธุรกิจเป็นพวกร้านขายของฝากไม่กี่ร้าน มีบ้างที่ปิดกิจการไป หลังจากหมดช่วงโควิด รอบนี้คนจีนกลับเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้เน้นทำร้านอาหารมากกว่าเดิมเยอะ เน้นขายหม่าล่า เหมือนขายแข่งกันเอง

Huai Khwang

การเข้ามาอยู่อาศัยของคนจีนจำนวนมาก มีส่วนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ย่านนี้แพงขึ้น

ทั้งนิภาและวิไลพรต่างเห็นตรงกันว่า การเข้ามาอยู่อาศัยของชาวจีนในย่านนี้ส่งผลให้อสังหาฯ มีราคาที่แพงขึ้น ตัวอาคารที่มีลักษณะทรุดโทรมมากๆ ชาวจีนก็หาทางเช่า จากนั้นก็รีโนเวตจนหรูหราผิดหูผิดตา การไหลเข้ามาของคนจีนมีจำนวนเยอะมากเกินคาด ตึกหนึ่งหลังต้องจ่ายค่าเช่าราว 60,000-70,000 บาท คนจีนพร้อมควักเงินจ่ายค่าเช่าและรีโนเวตเต็มที่

ช่วงก่อนหน้าที่คนจีนจะมาอยู่อาศัย คูหาหนึ่งขายอยู่ที่ราคา 4-5 ล้านบาท แต่พอคนจีนไหลเข้ามามากๆ ราคาก็ขึ้นเกือบ 16-17 ล้านบาทแล้ว ถ้าไม่มีโควิดก็คงทะยานสู่หลัก 20 ล้านบาท แต่หลังเจอโควิดระบาดเข้าไป ราคาก็ลดลงมาบ้าง

 

new Chinese Capitalist

[อ่านบทสนทนาของทั้งสองเกี่ยวกับตึกและการทุ่มเงินไปรีโนเวตของคนจีนด้านล่าง]

นิภา: เพียงแต่ว่าบ้านช่องมันราคาขึ้นมา ตึกฝั่งนู้น เก๊าเก่า โทร๊มโทรม แล้วเค้าก็เก่งอะนะไปหาเจ้าของเจอเพราะจะเช่า แล้วก็มาทำแบบ ถ้าเป็นคนจีนมาเปิดร้านเนี่ยจะดูออก จะทำแบบหรูหรา
วิไลพร: ใช่ ทำแบบสีแดงเลย
นิภา: อ่า ทำแบบหรูหราเลย ทั้งที่ตึกนั้นอะเก่ามากโทรมมาก อะไรอย่างเนี้ย และที่ดินมันติดถนน แถมคนจีนมาอยู่เยอะแล้วมันทำให้ขึ้นราคา จริงๆ ก่อนหน้าที่คนจีนจะมาอยู่ ห้องนึงก็ประมาณแค่ 4-5 ล้านบาท เต็มที่ พอคนจีนเข้ามาระเบิดระเบ้อ
วิไลพร:
 ระเบิดระเบ้อเลย ขายกันเต็ม
นิภา: ตอนนี้ยังตกไปหน่อยนะ เพราะว่าช่วงโควิด ไม่งั้นตอนนี้น่าจะต้องมีถึง 20 ล้านแล้ว เพราะช่วงที่ยังไม่มีโควิด เขาก็ขายกัน 16-17 ล้านแล้วนะ เนี่ย ของมันเต็มร้าน ไม่งั้นคงให้เขาเช่าไปแล้ว
วิไลพร: เออเนอะ เขาทุ่มไม่อั้น
นิภา: ก็ตึกพวกนี้แหละที่ว่างๆ แล้วเขาก็มาทำใหม่เอง
วิไลพร:
เนี่ยก็ไอ้ร้านนั้นก่อนถึงเขตฯ ที่ขายขนม หนูเดินไป วันนั้นจะไปซื้อ อ้าว กลายเป็นร้านอาหารจีนไปแล้ว เขาขายไปแล้ว เคยขายขนม อร๊อยอร่อยอะ
นิภา: แล้วก็ตรงที่เลี้ยวซ้ายไปหน่อยด้วยอะนะ มันคงขายได้ราคาแหละ เขาก็คงไม่อยากอยู่ ถ้าเป็นตอนนี้นะ ได้ 13-14 ล้าน แต่ว่าฝั่งนู้นอาจจะไม่ถึง แต่ว่าก็เป็นสิบล้านขึ้นไปอะ
วิไลพร: ต้องเป็นประมาณนั้นอยู่แล้ว ระดับคนจีนเขาทุ่มอยู่แล้วแหละ

อ่านเนื้อหาเกี่ยวกับทุนจีนเพิ่มเติมที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา