“ประพันธ์” CEO ใหม่ธนชาต เปิดแผนงาน 2019 พร้อมตอบคำถามการควบรวม TMB

ต้นปีมีข่าวว่าแบงก์ธนชาต อาจจะควบรวมกับธนาคารทหารไทย (TMB) ว่าแต่ธนชาตเพิ่งเปิดตัว CEO คนใหม่ เขาจะเตรียมตัวรับภารกิจปี 2019 อย่างไรบ้าง?

ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต บอกว่า เรื่องการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาต และธนาคารทหารไทย (TMB) ยอมรับว่าผู้ถือหุ้นของธนชาต ศึกษาเรื่องนี้อยู่ ทั้งนโยบายที่ทางการออกมา ผลดี ผลเสีย และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป

“แต่เมื่อปลายปี 2018 เรามีการสื่อสารกับพนักงานภายในแบงก์ว่า มีการศึกษาการควบรวม แต่ยังไม่ได้สื่อสารเรื่องอื่น เพราะต้องรอดูความชัดเจน ดังนั้นปีนี้สิ่งที่เราเดินหน้าเต็มที่คือ ทำงานหลัก ทำธุรกิจแบงก์ให้เกิดขึ้นก่อน”

ธุรกิจแบงก์มีความซับซ้อนมากขึ้น ธนาคารจึงต้องปรับความรู้ความเข้าใจของพนักงาน ปรับใช้ดิจิตอลในการดำเนินงานมากขึ้น ส่วนแผนระยะยาวประมาณ 5 ปีธนาคารก็วางไว้ แต่ไม่อยากเล่าเพราะโลกเปลี่ยนไปไวมาก แผนที่ตั้งไว้อาจต้องปรับอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับดิจิตอล

ผลงานปี 2019 ของธนชาต สิ้นปีนี้จะเห็นอะไรบ้าง

เป้าหมายปี 2019 ว่ากำไรของธนาคารจะเติบโตที่ 6-7% จากปี 2018 มาจากการบริหารงานทั้งการเพิ่มฐานเงินฝากให้โต 10% ขึ้นไป และสินเชื่อของแบงก์จะเติบโต 7% จากปี 2018 หลักๆ จะโตจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีอยู่ 420,000 ล้านบาทปีนี้จะโตกว่า 10% และสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน (สินเชื่อที่อยู่อาศัย) สินเชื่อส่วนบุคคล (PLoan)

เป้าหมายหลักคือการรักษาอันดับ 1 ในธุรกิจเช่าซื้อทั้งรถใหม่ รถมือสอง รถแลกเงิน โดยธุรกิจเช่าซื้อยังมีสัดส่วนกว่า 80% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งแม้ว่าจะมีเกณฑ์ใหม่จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาควบคุมเรื่องสินเชื่อจำนำทะเบียน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของธนาคารเพราะปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับของธปท.อยู่แล้ว เกณฑ์ที่ออกมามุ่งกำกับธุรกิจ Non-Bank ที่ยังไม่เคยถูกควบคุมมากกว่า

“นอกจากนี้ตั้งเป้าหมายควบคุม NPL หรือหนี้เสียให้อยู่ระดับ 2.3% (คิดเป็นมูลค่า 19,000 ล้านบาท) รวมถึงตั้งสำรองหนี้เสียต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ในส่วนหนี้รายใหญ่ ธนาคารจะมีทีมผู้บริหารกลั่นกรองหลายชั้นก่อนจะปล่อยกู้ออกไป หนี้เสียเลยน้อย ส่วนสินเชื่อรายย่อยปีที่ผ่านมา เราทดลองโมเดลใหม่กับสินเชื่อเช่าซื้อ มีทั้ง Scoring Model การตามหนี้ยังมี Score เพื่อที่เราจะรู้ว่าลูกค้าเป็นแบบไหน และเราจะคุมหนี้ได้ดีขึ้น ปีนี้เราจะปรับมาใช้กับสินเชื่อประเภทอื่นๆ”

กลยุทธ์ปี 2019 “ปรับผังผู้บริหาร-ใช้ข้อมูล-Agility-เพิ่มความรู้พนักงาน”

ปีนี้ธนาคารมี 4 เรื่องที่ต้องเร่งทำคือ 1.ปรับผังผู้บริหาร ตั้งหน่วยงานใหม่ เช่น Enterprise digital banking ปรับใช้ดิจิตอลกับขั้นตอนการทำงานเรื่องสินเชื่อทั้งหมด รวมถึงการตั้งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

2. Data Diven Organization ต้องทำมากกว่าตั้งทีมงานมาทำข้อมูล แต่ทุกคนในองค์กรต้องใช้ข้อมูลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจให้ดีขึ้นจริง

3. Agility ลดกระบวนการทำงาน ซึงผ่านกระบวนการคิดทั้ง Lean Process Automation ฯลฯ 4. Advisor พนักงานแบงก์ต้องเปลี่ยนบทบาทให้คำปรึกษาลูกค้าได้ จากเดิมที่พนักงานสาขา 70-80% เป็นพนักงานด้านธุรกรรมตอนนี้ต้องปรับตัวมีความรู้ และแนะนำลูกค้าได้

ส่วนแผนงานเรื่องสาขาปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 500 สาขา (ปัจจุบันมี 512 สาขา) โดยจะมีทั้งการปิดสาขา ควบรวม และย้ายที่ ไปในแหล่งที่มีลูกค้าจริง ที่สำคัญรูปแบบจะเปลี่ยนไปมีดิจิตอลมากขึ้น

สรุป

สุดท้ายแล้วหน้าที่ของผู้บริหารคือการปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ยิ่งเวลาที่ไม่ชัดเจนว่าจะควบรวมหรือเปล่า ผู้บริการยิ่งต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าธนาคารจะเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นพนักงานคงหวั่นไหว ผู้ถือหุ้นก็คงลุ้นตัวโก่ง แต่ไม่ว่าจะควบรวมหรือไม่ ธุรกิจก็ต้องไปต่อ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา