หัวหน้าใหม่ โปรไฟล์ดี แต่เข้ากับทีมไม่ได้ ทีมจะรับมือยังไงกับหัวหน้าคนนอก?

ในขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน นอกจากเรื่องของเนื้องานแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์จะประเมินผู้ถูกสัมภาษณ์ คือ Culture Fit ว่ากันง่าย ๆ คือ ดูว่าคนนี้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ดีหรือเปล่า เหมาะกับการทำงานสไตล์ไหน จะเข้ากับทีมได้หรือเปล่า แต่หลายครั้งที่แม้จะผ่านการสัมภาษณ์มาได้ พอถึงหน้างานจริง เกิดความไม่ลงรอยกับคนในทีม หรือทำงานในสไตล์ที่ออกจะขัดกันเสียหน่อย จนส่งผลกระทบต่อคนในทีม ถ้าเขาคนนั้นเป็นพนักงานทั่วไป คงมีการเรียกคุยส่วนตัวเพื่อจัดการปัญหา แต่ถ้าคนนั้นคือหัวหน้าทีมล่ะ จะจัดการด้วยวิธีเดียวกันได้หรือเปล่า 

ลองนึกถึงสถานการณ์กันก่อน ทีมของคุณต้องการหัวหน้า ในตอนนี้เหล่ามดงานทุกคนทำงานกันเข้าขา ไม่มีเกมการเมืองในทีมให้ปวดหัว และเก็งกันไว้ว่าคนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมนั้น จะเป็นคนในที่อยู่กับทีมมานาน รู้จักทุกคนในทีมมากพอที่จะกำกับดูแลหลายคนได้ แต่ผิดคาด คนที่ได้เก้าอี้นั้นไปเป็นตัวละครลับ หัวหน้าคนนอก โปรไฟล์ดี มีศักยภาพ แต่พอลงสนามจริง ไม่มีใครกังขาในความสามารถ แต่เรื่อง Culture Fit ต่างหากที่ส่อแววจะไปไม่รอด ตัวเลขที่น่าสนใจจาก Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาการบริหารองค์กร พบว่า วัยทำงานกว่า 50% เคยลาออกเพื่อหนีเจ้านายที่ไม่เข้าขากันเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น

Employee

แบบนี้แล้ว ทีมจะต้องรับมือยังไงกับสถานการณ์หัวหน้าคนนอก?

  • ให้เวลากันสักหน่อย
    เพื่อความเป็นธรรม หัวหน้าคนนอกจะรู้ใจคนในได้ทีมได้ดีเท่าคนที่อยู่มานานก็ดูจะเป็นเรื่องเกินจริงไปหน่อย ลองคาดหวังในระดับที่เป็นไปได้ ให้เวลาเขาได้ปรับตัวและทำความรู้จักกันมากขึ้น อาจทำให้ความสัมพันธ์เข้าที่เข้าทาง และช่วยพัฒนา Culture Fit ไปในตัว 
  • ตัดอคติออกไปก่อน
    พอเป็นคนหน้าใหม่ เลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะเกิดอคติในใจ เพราะเขาไม่ใช่เพื่อนร่วมงานคนโปรดที่อยู่ด้วยกันมานาน ไม่ใช่คนที่ทีมหวังไว้ ลองถามตัวเองก่อนว่า ที่เรากำลังรู้สึกถึงความไม่ลงรอย ไม่เข้าที่เข้าทาง เป็นเพราะเขาเป็นคนแบบนั้นจริง ๆ หรือว่าเพราะอคติกำลังทำงานกันแน่
  • สื่อสารให้เยอะเข้าไว้
    อย่าตั้งป้อมตัวเองเป็นคนเก่า แล้วนั่งรอให้คนใหม่ต้องเข้ามาทำความรู้จักเราเอง ปัญหาและความไม่ลงรอยกันมากมายในที่ทำงานสามารถจัดการได้ผ่านการสื่อสาร หากเราเอาแต่นิ่งเงียบ ไม่กล้าบอกเข้าไปทำความรู้จัก หรือรู้จักกันแล้วแต่ไม่กล้าปัญหา ความคับข้องใจของเราจะไม่มีวันถูกแก้ไข การพูดคุยอย่างจริงใจสักหนึ่งหรือสองชั่วโมงเกี่ยวกับสไตล์การทำงานและการหาจุดยืนตรงกลางจะช่วยคลายปัญหาได้ในระยะยาว

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามในใจ สิ่งนี้มันเกินไปหรือเปล่านะ จะหัวหน้าคนไหนก็ช่าง ต่างคนต่างมาทำงานก็พอแล้วไม่ใช่หรอ หากเอา Culture Fit มาพิจารณาทุกคนแบบนี้ ดูเหมือนเป็นกบเลือกนายหรือเปล่านะ 

จริง ๆ แล้ว Culture Fit สำคัญกับการทำงานขนาดนั้นเลยหรือเปล่า?

แน่นอนว่าสำคัญ หาก Job Description ทำหน้าที่บอกรายละเอียดว่าตำแหน่งนี้ต้องทำอะไร Organizational Culture จะทำหน้าที่บอกว่างานนั้นทำอย่างไร ทำด้วยวิธีไหน แม้ว่าวัฒนธรรมของบริษัทเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มันกำหนดทุกอย่างตั้งแต่วิธีที่ผู้คนทำงานร่วมกัน ไปจนถึงสไตล์การหยอกล้อกันในออฟฟิศ

ลองนึกภาพออฟฟิศเอเจนซี่โฆษณา มีแต่เด็กรุ่นใหม่ไฟแรงอยากจะโชว์สกิลที่มี ถกเถียง ส่งเสริม ระดมสมองกันอย่างเมามัน วิจารณ์ผลงานกันอย่างตรงไปตรงมา แต่แล้ววันหนึ่งกลับมีหัวหน้าคนนอก ที่เป็นรุ่นใหญ่ใจนิ่ง ชอบความเป็นระบบระเบียบ ไม่ยืดหยุ่น ไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง จะเหมาะกับที่นี่หรือเปล่า? Organizational Culture ทำหน้าที่อะไรทำนองนั้น

หากมี Organizational Culture ที่แข็งแรง ออฟฟิศก็จะกลายเป็นสถานที่ทำงานที่ทุกคนรู้สึกสบายใจ ได้รับการยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของที่นั่น 

 

อ้างอิง

Employees Want a Lot More From Their Managers (gallup.com)

The Importance of a Cultural Fit When Hiring (business.com)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา