ททบ. 5 กับ 5 กลยุทธ์ที่น่าตั้งคำถามว่า ช่องนี้ยังต้องมีอยู่หรือไม่?

ททบ. 5

25 พ.ย. 2564 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ. 5 ประกาศปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ไล่ตั้งแต่เปลี่ยนเลขช่อง, ให้น้ำหนักรายการข่าวสาร และสาระความรู้, ร่วมมือกับสื่อไทย-เทศ และบุกเบิกทีวีช้อปปิ้งช่วยเกษตรกรท้องถิ่น

ถึงจะปรับแค่ไหน พล.ท. รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ททบ. 5 ยังบอกว่า การปรับครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเรตติ้ง เพราะปรับเพื่อมอบเนื้อหาคุณภาพให้กับประชาชน ตามคำขวัญขององค์กรว่า ททบ. 5 นำคุณค่าสู่สังคมไทย

Brand Inside ได้รวบรวม 5 กลยุทธ์ของ ททบ. 5 ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และอยากชวนตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว ททบ. 5 ยังต้องมีอยู่หรือไม่?

เปลี่ยนเลขช่องจาก 1 เป็น 5 เอาความคุ้นเคยกลับมา

ช่วงแรกในการจัดสรรช่องทีวีดิจิทัล ททบ. 5 ได้ช่องหมายเลข 1 โดยไม่ต้องไปแย่งประมูลเหมือนกับช่องอื่น ซึ่งหลายคนคงคิดว่า ช่องหมายเลข 1 คือช่องแรก และน่าจะดึงดูดผู้ชม พร้อมสร้างเรตติ้งได้มหาศาลแน่นอน แต่จริง ๆ แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นเลย

เพราะนับตั้งแต่ทีวีดิจิทัลเริ่มแพร่ภาพปี 2557 ช่อง 5 กลับมีเรตติ้งอยู่กลุ่มท้ายตารางเสมอ น้อยครั้งที่จะฟื้นกลับมาอยู่ในกลุ่มบน แสดงให้เห็นว่า หมายเลข 1 อาจไม่ใช่ประเด็นในการดึงดูด แต่คือเนื้อหารายการมากกว่าที่สามารถสร้างเรตติ้งให้กับช่องได้

จุดนี้เอง พล.ท. รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ททบ. 5 จึงขอ กสทช. เปลี่ยนหมายเลขช่องจาก 1 เป็น 5 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2564 เพื่อคงเอกลักษณ์ และสร้างการนึกถึงเหมือนในยุคทีวีแอนะล็อกที่มีมาตั้งแต่ปี 2500 ทั้งยังลดความสับสนในการรับชม เพราะเวลากดหมายเลข 5 จะดูช่อง 5 ได้ทันที

ร่วมมือกับ GMC ดึงทีม กนก-ธีระ รับผิดชอบข่าวไทย

กลยุทธ์ถัดไปคือการร่วมมือกับ บริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ GMC เพื่อรับผิดชอบข่าวไทย โดยบริษัทดังกล่าวมาพร้อมกับ กนก รัตน์วงสกุล และ ธีระ ธัญไพบูลย์ สองผู้สื่อข่าวที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น และทีมงานที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ยกระดับรายการข่าวของ ททบ. 5 ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เราจึงปรับผังรายการให้เน้นข่าวสาร และเนื้อหาสาระมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง และเป็นไปตามคำขวัญขององค์กร ททบ. 5 นำคุณค่าสู่สังคมไทย” พล.ท. รังษี กล่าว

สำหรับการปรับผังรายการ ททบ. 5 จะเปลี่ยนจากรายการข่าวสาร และเนื้อหาสาระ 70% กับรายการบันเทิง 30% เป็นสัดส่วน 80:30 ตามลำดับ โดยทีมข่าวจาก GMC ที่นำโดย กนก-ธีระ จะมีรายการข่าว 4 ช่วงเวลา กินเวลาทั้งหมดกว่า 7 ชม.

ร่วมมือสื่อยักษ์ใหญ่จากจีนทำข่าวต่างประเทศ

นอกจากปรับภาพข่าวสารในประเทศ ททบ. 5 ยังส่งกลยุทธ์ที่ 3 คือ ร่วมมือกับ China Media Group หรือ CMG หนึ่งในสื่อยักษ์ใหญ่ของจีน เทียบเท่าสำนักข่าวซินหัว และพีเพิลเดลี่ มีช่อง CCTV และ CGTN เป็นหัวหอก โดย CMG จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารเชิงลึกเกี่ยวกับจีน และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจไทยบุกตลาดจีนได้ง่ายขึ้น

เบื้องต้นทาง CMG ชี้แจงว่า การนำข่าวต่าง ๆ ในประเทศจีนไปรายงานต่อ สื่อตะวันตกมักใช้แหล่งที่มาจากช่อง CCTV Plus และสื่อในประเทศไทยจะนำข้อมูลเหล่านั้นมารายงายต่อ ดังนั้นเมื่อ ททบ. 5 ร่วมมือกับ CMG จะทำให้คนไทยได้รับข่าวจากแหล่งที่มาแรก ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอีกต่อไป

ช่วยเหลือ SME ด้วยทีวีช้อปปิ้ง Ohlala

ต่อจากภาพลักษณ์ และรายการข่าวที่มากขึ้น ททบ. 5 ยังส่งกลยุทธ์ช่วยเหลือ SME ด้วยการทำรายการทีวีช้อปปิ้งของตัวเองในชื่อ Ohlala เพื่อให้ SME และเกษตรกรไทย ส่งสินค้ามาจำหน่าย เพิ่มช่องทาง และโอกาสทางธุรกิจร่วมกันกับ ททบ. 5 ได้

ที่สำคัญ ด้วยสถานี ททบ. 5 ตึกใหม่พึ่งสร้างเสร็จไม่นาน และตึกนั้นมีเนื้อที่กว้างขวาง ทำให้ ททบ. 5 เตรียมจัดงานขายสินค้าให้กับเกษตรกรไทยเดือนละ 2 ครั้ง วนให้ครบทุกจังหวัดในประเทศไทย พร้อมกับต่อยอดด้วยการผลิตรายการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว, อาหาร และวิถีท้องถิ่นต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย

ทำมาขนาดนี้แต่ไม่สนเรตติ้ง

กลยุทธ์สุดท้ายของ ททบ. 5 คือ การเน้นคุณภาพรายการเป็นหลัก ไม่มีการนำเรตติ้งมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เพราะต้องการสร้างเนื้อหาน้ำดี ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ส่งต่อข้อเท็จจริง พร้อมแนวทางแก้ปัญหา ตรงกับคำขวัญ ททบ. 5 นำคุณค่าสู่สังคมไทย

ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์ทั้ง 5 ของ ททบ. 5 ที่ต้องการเป็นสื่อที่ดี ยกระดับชีวิตคนไทยได้จริง โดยไม่สนเรื่องเรตติ้ง แต่อีกนัยทั้งเรื่องการเปลี่ยนเลขช่อง และการเดินหน้าทีวีช้อปปิ้งเพื่อสร้างรายได้ก็ดูค่อนข้างย้อนแย้งเล็กน้อย

ถ้าไม่นับรายได้จากการให้เช่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล หรือ MUX ก็น่าสนใจว่าช่อง 5 จะหารายได้จากไหน ถ้าไม่มีแล้วช่อง 5 จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่

อ้างอิง // ททบ. 5

อ่านข่าวเกี่ยวกับทีวีดิจิทัลเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา