คนที่เปิด Netflix ทิ้งไว้แต่ไม่ดู เขาทำอะไรกัน?
งานวิจัยจากปี 2023 เผยว่า 91% ของชาวอเมริกันเคยเล่นโทรศัพท์ขณะดูทีวี
สิ่งนี้เรียกว่า ‘Second-Screen Experience’ ซึ่งคือ การที่ต่อให้ตรงหน้าคุณจะมีจอโทรทัศน์ให้ชมอยู่แล้ว คุณก็ยังเลือกที่จะเอาอีกจอเช่น มือถือหรือแท็บเล็ตขึ้นมาเล่นไปด้วย
มันเหมือนกับว่าซีรีส์หรือหนังในทีวีเป็นแค่เสียงพื้นหลังประกอบการเล่นโทรศัพท์ของคุณยังไงอย่างงั้น
แต่พฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะบางคนซึมซับการทำ Second-Screen Experience จนถึงขั้นเอาไปใช้ตอนชมภาพยนตร์ในโรงจริงๆ ด้วยซ้ำ
Netflix เองก็รู้ดีว่าพฤติกรรมของผู้ชมนั้นเปลี่ยนไปแล้ว และทางบริษัทยินดีที่จะปรับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มให้สอดคล้องกับเทรนด์การไถจอขณะชมภาพยนตร์
ตาไม่มองแต่หูก็ยังฟัง
ในเมื่อตาเอาแต่มองโซเชียลมีเดียหรืออะไรก็ตามบนมือถืออยู่ วิธีหนึ่งที่ Netflix จะทำให้ผู้ชมตามคอนเทนต์ทันคือ ‘การใช้เสียง’
มีรายงานว่า ทีมบริหารของ Netflix บรีฟให้นักเขียนบทหลายๆ คน เขียนให้ตัวละครคอยบอกว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่เป็นระยะๆ เพื่อที่ผู้ชมที่ไม่ได้ตั้งใจดู อย่างน้อยจะได้ฟังแล้วตามทันว่าตนเองกำลังดูซีนไหน
ยกตัวอย่างเช่น ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Irish Wish’ ที่นางเอกลั่นบทพูดยาวๆ ออกมาเพื่อเล่าว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นไปแล้วบ้าง
ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนอาจมองว่าการเขียนบทที่เน้นไดอาล็อกยาวๆ ในการอธิบายซีนต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความขี้เกียจของนักเขียน เพราะพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ผู้ชมเข้าใจได้ โดยไม่ต้องให้ตัวละครพูดโต้งๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริบทในการเขียนสไตล์นี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากสาเหตุที่นักเขียนทำไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพราะต้องทำให้ผู้ชมตามเนื้อเรื่องทันแบบไม่ต้องมองจอต่างหาก
ขอไอเดียน่าเบื่อๆ แสดงก็ไม่ต้องดีมาก
นอกจากคนเขียนบทแล้ว นักแสดงก็ได้รับผลกระทบจากแนวทางใหม่ของ Netflix เหมือนกัน
ในปี 2023 นักแสดงหลายๆ คนเคยโดนบริษัทบ่นว่า “การแสดงของคุณยังไม่เหมาะกับการเป็นจอที่สองเท่าไหร่” หรือพูดง่ายๆ คือ แอคติ้งแบบนี้มันเล่นใหญ่เกินไป จนอาจรบกวนสมาธิในการเล่นมือถือของผู้ชมได้
ล่าสุด รายการพ็อดแคสต์ที่มีคู่สนทนาเป็นนักแสดงดังจากซีรีส์ ‘Stranger Things’ ของ Netflix ก็เผยว่า สตูดิโอถ่ายทำหลายๆ แห่งกำลังมองหาไอเดียน่าเบื่อๆ ที่จะทำให้ผู้ชมหันไปเล่นโทรศัพท์แทน
ในส่วนของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม จะเห็นเลยว่าหลังๆ มานี้ Netflix เริ่มผลิตคอนเทนต์ที่ไม่ต้องตั้งใจดูมากออกมา เช่นซิทคอมอย่าง Emily in Paris หรือ Dream Home Makeover รายการเรียลลิตี้ที่ผู้ชมแทบจะไม่ต้องมองจอก็ยังรู้เรื่อง
นักข่าวคนหนึ่งจากสหรัฐฯ ให้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นยุคของ ‘ทีวีแอมเบียนต์’ เพราะ Netflix เลือกที่จะเป็นเสียงพื้นหลังหรือตัวประกอบที่ดีที่สุด มากกว่าลุกขึ้นมาสู้กับความละลานตาบนจอสมาร์ตโฟน
Neflix และผู้ชมไม่ได้ทำอะไรผิด
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็เหมือนจะโจมตี Netflix ในเรื่องที่ยอมเป็นรองมือถืออยู่ไม่น้อย แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่บริษัททำไม่ได้ผิดอะไรหรอก เพราะหน้าที่ของธุรกิจคือการตอบสนองความต้องการลูกค้า
ถ้าผู้ชมอยากได้เนื้อหาที่ไม่ต้องตั้งใจดูมาก เปิดผ่านๆ แต่ยังตามเรื่องราวทัน Netflix จะผลิตคอนเทนต์แบบนั้นออกมา ก็ไม่แปลก
ในทางกลับกัน การที่คนหันมาใช้มือถือขณะดูทีวีมากขึ้น ก็อาจไม่ผิดเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ เรามีรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การใส่ใจ ชนิดที่ว่าเป็น ‘มรดกทางงานศิลป์’ ไม่เยอะขนาดนั้น
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราจะเลือกเปิดแต่ซีรีส์หรือรายการที่มันตลกโปกฮาเบาสมองไปวันๆ ขณะไถมือถือ ทำงานบ้าน หรือนั่งพักผ่อนเฉยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางใหม่ของ Netflix ไม่กระทบผลประกอบการบริษัทเลย เพราะในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 ทางบริษัทสามารถทำรายได้มากกว่า 2023 ถึง 16% แถมมีผู้ใช้งานมากขึ้นราวๆ 19 ล้านคน
ถ้ากลยุทธ์ของ Netflix ไม่ผิด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ชมก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่ ดังนั้น เราอาจต้องตั้งคำถามว่า หรือเราเองนี่แหละคือคนที่ตามโลกไม่ทัน?
ที่มา: Fast Company, The Hollywood Reporter
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา