เปิดศึกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอาเซียนในวันที่ Netflix ยังคงเป็นเจ้าตลาด แต่อย่าประมาท เพราะ Disney+ กำลังมาแรง
การแข่งขันของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในภูมิภาคอาเซียนกำลังลุกเป็นไฟจากการมาของ Disney+ และ Disney+ Hotstar ที่เริ่มเปิดตลาดอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในเดือนกันยายนปี 2020 ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ Disney+ เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่
-
- สิงคโปร์ เปิดบริการ Disney+ เดือนกุมภาพันธ์ 2021
- มาเลเซีย เปิดบริการ Disney+ Hotstar ต้นเดือนมิถุนายน 2021
ส่วนประเทศไทย Disney+ Hotstar จะเปิดให้บริการในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
การมาของ Disney+ และ Disney+ Hotstar ในอาเซียน ทำให้การแข่งขันของแฟลตฟอร์มสตรีมมิ่งในภูมิภาคนี้รุนแรงมากขึ้น
ศึกแห่งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในอาเซียน ใครจะเป็นผู้ชนะ
จากการเก็บข้อมูลจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในภูมิภาคอาเซียนโดย Media Partners Asia พบว่า จำนวนผู้สมัครใช้งานแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง (Subscriber) ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 24.2 ล้านราย ในจำนวนนี้เพิ่มขึ้น 4.9 ล้านรายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2021
ตัวเลขจำนวนผู้สมัครใช้งานแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นกว่า 4.9 ล้านรายนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แสดงถึงการแข่งขันของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่รุนแรง
Netflix เจ้าเก่าที่ยังคงเป็นผู้นำในภูมิภาค
หากจะพิจารณาว่าใครเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ คงต้องเจาะลึกไปที่สัดส่วนการรับชมของแต่ละแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง โดยผู้นำก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ยังคงเป็น Netflix เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่คนทั้งภูมิภาคคุ้นเคย ครองส่วนสัดส่วนการรับชมไปได้ถึง 40% ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นๆ ยังคงต้องอาศัยความพยายามอย่างหนักในการตาม Netflix ให้ทัน ได้แก่
-
- Viu สัดส่วนการรับชม 15%
- WeTV สัดส่วนการรับชม 13%
- iQIYI สัดส่วนการรับชม 10%
- Vidio สัดส่วนการรับชม 9%
- Disney+ และ Disney+ Hotstar สัดส่วนการรับชม 2%
- LINE TV สัดส่วนการรับชม 2%
- แพลตฟอร์มอื่นๆ สัดส่วนการรับชม 7%
สตรีมมิ่งยังคงห่างไกลจาก YouTube และ TikTok
แต่แม้จำนวนผู้สมัครรับชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจะเติบโตเกือบ 5 ล้านรายในไตรมาส 1 ปี 2021 นี้ แต่สัดส่วนการรับชมสตรีมมิ่งยังนับว่าน้อยอยู่ดี คิดเป็นสัดส่วนการรับชมเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ YouTube ครองสัดส่วนการรับชมไปถึง 68% และ TikTok ที่ครองสัดส่วนการรับชมไป 21%
Netflix ยังเป็นผู้นำที่ทิ้งห่าง แต่ Disney+ ก็เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
จากตัวเลขสัดส่วนการรับชมข้างต้น Netflix ครองไป 40% แต่ในขณะที่ Disney+ และ Disney+ Hotstar ครองสัดส่วนไปได้เพียง 2% เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Netflix จะเป็นผู้ชนะได้ตลอดไป
เมื่อเจาะไปที่จำนวนผู้สมัครรับชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้น 4.9 ล้านราย ในไตรมาส 1 ปี 2021 นี้ จะพบว่า Disney+ และ Disney+ Hotstar เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในภูมิภาคอาเซียน โดยแต่ละรายครองสัดส่วนจำนวนผู้สมัครรับชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นดังนี้
-
- Disney+ และ Disney+ Hotstar สัดส่วน 43%
- Viu สัดส่วน 12%
- AIS Play สัดส่วน 9%
- Netflix สัดส่วน 9%
- Vidio สัดส่วน 5%
- WeTV สัดส่วน 5%
- Vision+ สัดส่วน 3%
- iQIYI สัดส่วน 3%
- แพลตฟอร์มอื่นๆ สัดส่วน 14%
สำหรับ Disney+ และ Disney+ Hotstar มีผู้สมัครใช้งานเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านราย ในไตรมาส 1 ปี 2021 โดยมีปัจจัยหลักมาจากความสำเร็จในประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์
โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียที่ Disney+ Hotstar ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนมีจำนวนผู้สมัครรับชมเกิน 2.5 ล้านคนไปแล้วในช่วงเดือนมกราคม 2021 เอาชนะ Netflix ไปได้ในเวลาเพียง 5 เดือนหลังเปิดให้บริการในเดือนกันยายนปีที่แล้ว
ส่วนภาพรวมทั้งภูมิภาคอาเซียน Netflix ยังคงเป็นผู้นำในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ด้วยจำนวนผู้สมัครรับชมรวม 4.6 ล้านราย ตามมาด้วย Disney+ และ Disney+ Hotstar
จับตามองศึกสตรีมมิ่งหลัง Disney+ Hotstar เปิดบริการในไทย
สิ่งที่น่าจะตามองหลังจากนี้คือ Disney+ Hotstar เพิ่งจะเปิดตัวในประเทศไทย และจะเริ่มให้บริการได้ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ การแข่งขันของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในอาเซียนน่าจะดุเดือดขึ้นอีก ด้วยจำนวนผู้ที่สนใจ Disney+ Hotstar ในประเทศไทยที่มีจำนวนมหาศาล ก็ต้องรอชมกันต่อไปว่าหลังจาก Disney+ Hotstar เปิดบริการในไทย สตรีมมิ่งรายอื่นๆ จะงัดกลยุทธ์แบบไหนออกมาดึงดูดลูกค้ากันบ้าง
หากสนใจอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Disney+ Hotstar ในประเทศไทย แนะนำบทความที่ Brand Inside เคยเขียนไว้ให้อ่านเพิ่มเติม
- Disney+ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย เริ่มสตรีม 30 มิ.ย.64 ค่าบริการ 799 บาท/ปี
- AIS เปิดแพ็คพิเศษ Disney+ Hotstar สมัครได้วันนี้ คิดค่าบริการพิเศษ 35 บาท/เดือน
- Disney+ มาไทย แต่ทำไมต้อง Hotstar | Explained
ข้อมูลอ้างอิง – Media Partners Asia (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา