“ตลาดสุขภาพคือทางเดียวที่ธุรกิจอาหารจะรอด” คือคำพูดของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nestle Japan

สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนประชากรที่ลดลงกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ เท่ากับว่าเค้กก้อนใหญ่ในธุรกิจเกี่ยวกับอาหารต้องเล็กลง ทำให้ Nestle Japan ตัดสินใจรุกตลาดสุขภาพ ผ่าน Nestle Wellness Ambassador

การคำนวนโภชนาการผ่าน LINE ของ Nestle

ทางรอดเดียวของธุรกิจอาหารในศตวรรษที่ 21

“ในศตรวรรษที่ 21 จะเห็นว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็มีประชากรลดลง รวมถึงเกิดสังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ ทำให้ทางรอดเดียวของธุรกิจเกี่ยวกับอาหารคือการรุกตลาดสุขภาพ” Kozo Takaoka ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nestle Japan กล่าว

และคำพูดนี้เองก็เป็นที่มาของ Nestle Wellness Ambassador หรือแพลตฟอร์มธุรกิจสุขภาพรูปแบบใหม่ของ Nestle ที่ประกอบด้วยการเปิดรับตัวแทนจำหน่ายชาเขียวสูตรพิเศษที่ผสมวิตามิน, แคลเซียม หรือสารอาหารอื่นๆ ให้กับลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ลูกค้าทั่วไปยังสามารถสมัครเพื่อถ่ายรูปอาหารแล้วอัพโหลดให้ระบบ AI ของ Nestle Japan วิเคราะห์ค่าโภชนาการผ่านแอปพลิเคชั่น LINE ได้อีกด้วย ที่สำคัญยังชุดตรวจสอบค่าเลือด และ DNA ที่สามารถทำได้เองที่บ้านเช่นกัน ทำให้แพลตฟอร์มสุขภาพของ Nestle ตัวนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคยุคใหม่แข็งแรงขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

จับมือกับพันธมิตรสุขภาพแข่งขันกับยักษ์ฝั่งเทคฯ

ทั้งนี้แพลตฟอร์มสุขภาพดังกล่าวเริ่มต้นให้บริการมาตั้งแต่เดือนต.ค. 2560 และถึงปัจจุบันมีผู้บริโภคสมัครสมาชิกแล้วกว่า 90,000 คน แต่แค่ Nestle Japan คนเดียวก็คงสร้างโครงการใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้ ทำให้ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม และอาหารตัดสินใจพันธมิตรกับ Startup ที่ญี่ปุ่น 2 รายคือ Genesis Healthcare กับ Halmek Venture

โดยทั้งคู่จะมาช่วยดูและเรื่องการตรวจสอบค่า DNA และค่าเลือดตามลำดับ ที่สำคัญ Nestle Japan ยังประกาศเป็นพันธมิตรกับบริษัทประกัน AXA เพื่อเชื่อมต่อฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน ก่อนต่อยอดสู่การพัฒนาบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ในอนาคต เพราะการมีข้อมูลจำนวนมากในตอนนี้เป็นแต้มต่อสำคัญในการทำธุรกิจ

ซึ่งหนึ่งในแผนการของ Nestle Japan ในอนาคตคือการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อใช้ Big Data ในการแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีในประเทศ เช่น Amazon และ Rakuten เพราะทั้งคู่ต่างก็เริ่มเข้ามาทำตลาดบริการสุขภาพ ผ่านการอาศัยข้อมูลจำนวนมากของทั้งคู่บ้างแล้ว

การคำนวนข้อมูลต่างๆ เพื่อพัฒนาแผนการตลาด

ไม่ใช่แค่เทคฯ แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

“อย่างที่รู้กันว่าโลกธุรกิจในปัจจุบันนั้นไร้พรมแดนมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมอื่นเช่นเครื่องสำอาง และการเงิน ก็เริ่มเข้ามารุกตลาดบริการสุขภาพ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Nestle Japan จะเข้ามาชิงแชร์ในตลาดนี้ได้ แต่ด้วยสินค้า และทักษะการสื่อสารก็น่าจะช่วยเราได้ไม่มากก็น้อย” Kozo กล่าวเสริม

สำหรับ Nestle Japan ในปี 2560 มียอดขาย และกำไรเติบโต 30% กับ 80% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2553 และถ้าเทียบกับปี 2559 ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น 2.8% โดย 20% ของยอดดังกล่าวมาจากการขายผ่าน E-Commerce และถือว่าสูงกว่าตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่มียอดขายปี 2560 เติบโตเพียง 0.7%

แม้ตอนนี้ญี่ปุ่นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และแต่ละครัวเรือนมีคนน้อยลง ทำให้ยอดขาย Nescafe ของ Nestle Japan ลดลงเรื่อยๆ แต่บริษัทก็คิดกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อคงยอดไว้ได้ เช่นโครงการ Nescafe Ambassador ที่เปิดให้หนุ่มสาวออฟฟิศผู้คลั่งไคล้กาแฟมาเป็นบาริสต้า และชงกาแฟขายเพื่อนร่วมงานโดยตรง จนมีเครือข่ายถึง 4 แสนคนแล้ว

สรุป

เรียกว่าเป็นเรื่องจำเป็นของหลายธุรกิจในตอนนี้ที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยี ประกอกับรุกตลาดสุขภาพ เพื่อรองรับกับประชากรที่น้อยลงในหลายประเทศ และก็ไม่แปลที่ Nestle จะเปิดเกมรุกแบบนี้ เพราะมันช่วยให้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มเป็นอะไรได้มากกว่าที่ตัวเองเป็นอยู่ พร้อมสร้างการเติบโตในอนาคตได้ไม่ยาก

อ้างอิง // Asian Nikkei Review, Nestle Japan

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา