เนสท์เล่ เปิดเผยภาพรวมการทำธุรกิจภายในประเทศไทย ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจในอนาคต ที่เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโต รวมถึงการลงทุนขยายโรงงาน 3 แห่งในประเทศไทย ด้วยงบประมาณมูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เล่าถึงภาพรวมการทำธุรกิจของเนสท์เล่ในประเทศไทยว่า ผลประกอบการของเนสท์เล่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคนอกบ้าน เช่น น้ำดื่ม ขนม และไอศกรีม แต่ในทางกลับกันผลิตภัณฑ์ประเภทที่ใช้บริโภคในบ้าน สามารถทำผลประกอบการได้ดี ทั้งกาแฟ ซอสปรุงรส และนม เพราะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด คนจำเป็นต้องอยู่บ้านมากขึ้น
ที่ผ่านมาเนสท์เล่ มีการทำสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค โดยพบว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตปัจจุบันของผู้บริโภค มีความเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้าน ได้แก่
-
- ต้องการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเสริมภูมิคุ้มกัน
- ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการมองหาของกินเล่น เป็นความสุขระหว่างวัน
- ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้า จากภาวะเศรษฐกิจ
- ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน เช่น บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะคนที่มีอายุน้อย
- ช่องทาง e-Commerce และบริการเดลิเวอรีอาหาร
สำหรับการขยายโรงงานของเนสท์เล่ในประเทศไทย วิคเตอร์ เล่าว่า จะใช้งบประมาณในการลงทุน 4,500 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานอมตะ โรงงานบางชัน และโรงงานยูเอชที นวนคร 7
อาหารสัตว์เลี้ยง เจ้าของยอมจ่าย แม้ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอื่น
โดยการขยายโรงงานอมตะ จะเป็นการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ที่เนสท์เล่เห็นแนวโน้มการเติบโต โดย วิคเตอร์ เล่าว่า อาหารสัตว์เลี้ยง คือสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่มีอัตราการเติบโตในปีนี้กว่า 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด คนได้ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
ประกอบกับเทรนด์ในตลาดโลก ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะยอมทุ่มเงินซื้ออาหารสัตว์ระดับพรีเมียม ซึ่งในประเทศไทยก็มีเทรนด์แบบนี้เช่นกัน
นอกจากโรงงานอมตะ ซึ่งเป็นโรงงานสำหรับการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแล้ว เนสท์เล่ ยังจะขยายโรงงานบางชัน ที่ใช้สำหรับการผลิตไอศรีมด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันสินค้าประเภทไอศกรีม คิดเป็นส่วนแบ่งราว 10% ของเนสท์เล่ ซึ่ง วิคเตอร์ เล่าว่า ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้มองหาเพียงไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังมองหาสิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเนสท์เล่ ได้เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ไอศกรีมที่ทำจากกระดาษ ที่ปิดผนึกด้วยความร้อน ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก และสามารถรีไซเคิลได้ 100%
ส่วนโรงงานแห่งสุดท้ายคือ โรงงานยูเอชที นวนคร 7 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มยูเอชที คือ ไมโล และนมตราหมี สำหรับภาพรวมของตลาดเครื่องดื่มยูเอชที ประเภทนมวัวและเครื่องดื่มช็อกโกแลตมอลต์ยูเอสที จะมีการเติบโตด้วยสัดส่วน 3% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มเครื่องดื่มยูเอชที
เนสท์เล่ ยังไม่มั่นใจตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน
ส่วนประเด็นเรื่องน้ำดื่มผสมวิตามิน ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงเวลานี้ และมีผู้ผลิตหลายรายส่งผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้าสู่ตลาดหลายเจ้า แต่อย่างไรก็ตามเนสท์เล่ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดของน้ำวิตามิน เนื่องจากตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ยังมีขนาดเล็กอยู่ และยังไม่รู้ว่าจะเป็นกระแสที่อยู่ต่อไปในระยะยาว หรืออยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แล้วหายไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา