สภาพัฒน์เปิดเผยภาวะสังคมไทย ปี 2566 แม้การจ้างงานและอัตราการว่างงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาในหลายด้านทั้งขาดแคลนแรงงาน-สัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือแตะ 43.6% ซึ่งต้องเร่งแก้ไข ส่วนหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 แม้จะเติบโตชะลอลง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% แต่หนี้เสียยังเพิ่มขึ้นทุกประเภทสินเชื่อ
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปี 2566 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยการว่างงานลดลง หรือมีอัตราการว่างงาน 0.81% ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2566 มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% อยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและสาขาการก่อสร้าง แต่ที่การจ้างงานสาขาการผลิตหดตัวลง 2.3% จากการชะลอการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ และตามการส่งออกที่หดตัว (ปี 66 หดตัว 1.7%)
นอกจากนี้ ชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 42.3 ชม.ต่อสัปดาห์ (จากปี 65 ที่อยู่ 42.2 ชม.ต่อสัปดาห์) และภาคเอกชนที่ 46.0 ชม.ต่อสัปดาห์ (จากปี 65 ที่อยู่ 45.8 ชม.ต่อสัปดาห์) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้อง ติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
- ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรม เพื่ออนาคต ซึ่งโครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรมการผลิตในปี 2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา แต่สถานประกอบการจำนวนมากต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐาน
- ปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งในไตรมาส 4 ปี 2566 มีสัดส่วนตำแหน่งว่างงานต่อผู้สมัครงานอยู่ที่ 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ
- การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยควรมีการ up skill / reskill ด้าน AI แรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะ ด้าน AI และทักษะที่เกี่ยวข้อง
ด้านหนี้สินครัวเรือน ในไตรมาส 3 ปี 2566 มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวลงจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า แม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่หนี้เสียยังเพิ่มขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวลดลงเช่นกัน
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้ ไตรมาส 3 ปี 2566 พบว่าครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัว 3.55%YoY จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 3.2%YoY ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ โดยหนี้เสีย หรือ NPLs มีมูลค่า 152,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9%YoY และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้น จาก 2.71% ในไตรมาสก่อน
ในขณะที่ หากพิจารณาหนี้ที่มีการค้างชำระ 1 – 3 เดือน (SMLs) พบว่า ภาพรวมสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7% แต่หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 – 30,000 คันต่อเดือน จากปี 2565 ที่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ประเด็นด้านหนี้สินครัวเรือนควรให้ความสำคัญ ใน 3 ด้าน ได้แก่
- การติดตามผลของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน รวมถึงติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง
- สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
- การติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านการติดตามความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ และอาจ ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ต้องเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบ ได้ในอนาคต
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา